กฟผ.ชง‘โซลาร์ฟาร์ม’ เปิดใช้พื้นที่ใต้สายส่ง

12 ส.ค. 2560 | 07:30 น.
กฟผ.เตรียมเสนอบอร์ดพิจารณาเพิ่มประกาศอนุโลมสร้างโซลาร์ฟาร์มใต้พื้นที่สายส่งไฟฟ้าได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ยํ้าชัดเดินหน้าพลังงานทดแทน 2 พันเมกะวัตต์ พร้อมร่างแผนลงทุนยื่นกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการและโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กฟผ.มีแนวคิดเรื่องการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ใต้พื้นที่สายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.มาตั้งแต่ต้นปี 2560 ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กฟผ.ไปแล้วครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

[caption id="attachment_168092" align="aligncenter" width="503"] นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี[/caption]

โดยกฟผ.เตรียมออกประกาศเพิ่มเติมในข้อกำหนดเพื่อความปลอดภัยในเขตเดินสายไฟฟ้า เพื่ออนุญาตให้สามารถก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มใต้พื้นที่สายส่งได้ โดยกำหนดความสูงทั้งต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างจะต้องไม่เกิน 3 เมตร ซึ่งจะเสนอเรื่องการออกประกาศเพิ่มเติมดังกล่าวเข้าที่ประชุมบอร์ด กฟผ. ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จากนั้นจะเสนอไปยังกระทรวงพลังงาน พิจารณาต่อไป คาดว่าจะสามารถออกประกาศ อนุญาตได้ภายในเดือนกันยายนนี้

สำหรับประกาศเพิ่มเติมดังกล่าว แบ่งเป็น 3-4 หลักการ คือ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบส่ง การก่อสร้าง และการขยายสายส่ง, ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบส่ง และต้องมีระยะห่างที่เหมาะสม, มีความปลอดภัย และไม่กีดขวางสายส่ง

“ที่ผ่านมา กฟผ. เสนอแนวคิดการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มใต้พื้นที่สายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้วเมื่อครั้งที่ท่านมาตรวจเยี่ยม กฟผ. เมื่อ 2 เดือนก่อน ซึ่ง กฟผ.กลับมาทำรายละเอียดอีกครั้งและต้องเสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้ หากมีผลบังคับใช้สามารถเปิดพื้นที่ให้ทำโซลาร์ฟาร์มได้ ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก็สามารถลงทุนโซลาร์ฟาร์มได้ โดยในส่วนของ กฟผ.ก็สนใจลงทุนโซลาร์ฟาร์มเช่นกัน แต่ยังไม่เขียนเป็นแผนว่าจะลงทุนเท่าไร กี่เมกะวัตต์ หาก กฟผ.จะดำเนินการจะต้องเจรจากับเจ้าของพื้นที่ และคงพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เพราะไม่ใช่ว่าใต้สายส่งจะสามารถสร้างโซลาร์ฟาร์มได้ทั้งหมด” นายสหรัฐ กล่าว

TP10-3286-1A นายสหรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าแผนลงทุนพลังงานหมุนเวียนของ กฟผ. กำลังการผลิตรวม 2 พันเมกะวัตต์ คิดเป็น 10% ของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี 2015) ได้ยื่นเรื่องไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว

โดยแผนดังกล่าวจะแบ่งเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์ สัดส่วน 45.4%,ชีวมวล 598 เมกะวัตต์ สัดส่วน 29.5%,พลังงานลม 230 เมกะวัตต์ สัดส่วน 11.5%, นํ้า 165 เมกะวัตต์ สัดส่วน 8.2%, ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.8%, ขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.5% และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ สัดส่วน 2.1% เบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในช่วงปี 2560-2579 ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ กฟผ. เตรียมหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อศึกษาแนวทางการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) โดยอัตราผลตอบแทนของกิจการจะต้องไม่สูงไปกว่าของกฟผ.

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ของกฟผ.ไม่สามารถเกิด ขึ้นได้ตามแผน ส่วนตัวมองว่า กฟผ.ควรพิจารณาลงทุนโซลาร์ ฟาร์มใต้พื้นที่สายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งปัจจุบันมีนับแสนไร่ เพราะกฟผ.รอนสิทธิ์พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเช่าเพิ่มเติมเพื่อลงทุนติดตั้งโซลาร์ฟาร์มใต้พื้นที่สายส่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560