เที่ยวทิพย์...ชมพะยูน เรียนรู้แผนอนุรักษ์ฯ กับ “ดร.ธรณ์”

04 พ.ค. 2564 | 12:25 น.

ในวันที่เชื้อโรคร้ายโควิด-19 สร้างวิกฤติโลกรอบใหม่ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักอีกรอบ สายการบินเริ่มทยอยยกเลิกเที่ยวบินเป็นทิวแถว แบบนี้ “เที่ยวทิพย์” ที่หลายๆ คนโพสต์ในเฟสบุ๊ก หรือตามโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด แล้วก็มาคอยเติมความรู้ที่น่าสนใจใส่สมอง ผ่อนคลายความเครียดจากโรคร้าย นั่นคือดีที่สุด 

ฉบับนี้ เลยขอพาไปเยี่ยมๆ มองๆ ที่เฟสบุ๊ก “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมอาจารย์นักอนุรักษ์ที่คุยสนุก และเล่าเรื่องผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กได้อย่างน่าติดตาม ทั้งมีสาระและได้อมยิ้ม กับเนื้อหาที่อาจารย์สื่อสารออกมา ซึ่งครั้งนี้ อยากให้ย้อนกลับไปที่เรื่องของลูกพะยูนตัวน้อย ที่เข้ามาเกยตื้นที่อ่าวทึง ต.อ่างนาง อ.เมือง จ.กระบี่เมื่อ 26 เม.ย.2562 โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ได้ย้ายพะยูนน้อยไปอยู่ที่เกาะลิบง เพื่อการอนุบาล และตั้งชื่อว่า “มาเรียม” ที่แปลว่า“หญิงสาวที่มีความสง่างามแห่งท้องทะเล”

สาวน้อยมาเรียมได้รับการดูแลอย่างดี ชื่อเสียงของน้องมาเรียมเป็นที่รู้จัก และมีผู้ติดตามความน่ารักของน้องมาเรียม ด้วยการเลี้ยงดูและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ ที่เป็นเหมือนพี่เลี้ยงในระหว่างการอนุบาลดูแลน้องมาเรียม จนกระทั่งน้องมาเรียมป่วย เพราะถูกพะยูนจากข้างนอกจู่โจมทำให้มีอาการช็อค และน้องได้จากไปในที่สุด

สิ่งที่น่าสลดหลังจากนั้น คือ หลังการทีมงานกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต พบว่าลูกพะยูนน้อยเสียชีวิตจากเศษพลาสติกเล็กๆ หลายชิ้นขวางลำไส้ จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร มีการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดเป็นหนอง และลุกลามไปถึงขั้น ช็อคเสียชีวิตในที่สุด

 

เที่ยวทิพย์...ชมพะยูน เรียนรู้แผนอนุรักษ์ฯ กับ “ดร.ธรณ์”

เที่ยวทิพย์...ชมพะยูน เรียนรู้แผนอนุรักษ์ฯ กับ “ดร.ธรณ์”

 

เรื่องราวความน่ารักแสนซนของมาเรียม และการจากไปด้วยสาเหตุที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ นั่นคือขยะในทะเล ทำให้เกิดกระแสอนุรักษ์ตื่นตัวขึ้น ทั้งการอนุรักษ์ทะเล อนุรักษ์พะยูน อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดการใช้ถุงพลาสติก โดย “อาจารย์ธรณ์“ ถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน “แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” โดยการนำเรื่องราวของมาเรียมมาถอดบทเรียน รวมถึงทางการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” โดยมีแผนในการอนุรักษ์คุ้มครองพะยูนและสัตว์หายากอย่างเป็นรูปธรรม “อาจารย์ธรณ์” เล่าว่า เคราะห์ดีที่มี “มาเรียม” ทำให้ดันแผนพะยูนแห่งชาติผ่านมาจนถึงขั้นตั้ง คณะอนุกรรมการระดับชาติซึ่งมันลิงค์อยู่กับแผน และการมีอนุกรรมการฯ ก็ช่วยทำให้ความสำคัญของเรื่องนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งว่ากันตามกฎหมาย...ตอนนี้พะยูนอยู่ในระดับเดียวกับป่าชายเลน ขนาดปะการังยังไม่ถึงขั้นมีอนุฯ เลยครับ

เที่ยวทิพย์...ชมพะยูน เรียนรู้แผนอนุรักษ์ฯ กับ “ดร.ธรณ์”

ขณะนี้ กรมทะเลและชายฝั่ง กำลังนำทุ่นบอกเขตพะยูน ซึ่งเป็นแท่งเหลืองๆ ไปติดตั้ง ทั้งหมด 16 ทุ่น ที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง โดย“อาจารย์ธรณ์” บอกว่า การมีทุ่นบอกเขต เราจะดูแลได้ง่ายขึ้น ไม่งั้นบอกให้คอยลาดตระเวนติดตามพูดง่ายทำยาก ในทะเลไม่มีเครื่องหมายเหมือนบนบก จะไปไล่จับตาม GPS คงต้องคิดถึงคนปฏิบัติด้วย ทุ่นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ยังมีอื่นๆ ตามมาอีกเป็นระยะตามแผนพะยูนแห่งชาติ

อีกหนึ่งโพสต์ของ “อาจารย์ ธรณ์” ได้นำเสนอ ภาพน้องพะยูนตัวน้อยกำลังออดอ้อนคุณแม่ เพื่อขอกินนมในทะเลกระบี่ในจังหวะที่ทีมสำรวจสัตว์หายากทางอากาศ กรมทะเล/อาสาสมัครผ่านไปเจอพอดี จึงได้ภาพสุดน่ารักนี้มาฝากคนไทย ให้มีรอยยิ้มกันบ้าง ต้องขอบคุณภาพสวยๆ จาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทุกภาพ ณ ที่นี้ด้วย

“อาจารณ์ธรณ์” ระบุว่า แหล่งหญ้าทะเลเมืองไทยมีเกือบ 1.6 แสนไร่ ประมาณ 3 หมื่นไร่อยู่ในจังหวัดกระบี่ แหล่งหญ้าใหญ่สุดในกระบี่ คือเกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ มีมากกว่า 2 หมื่นไร่ พบหญ้าทะเล 11 ชนิดจาก 13 ชนิดในประเทศไทย เมื่อเทียบความใหญ่ ความหลากหลาย ที่นี่จะเป็นรองเพียงเกาะลิบง จังหวัดตรัง และเป็นรองเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่ ย่อมเป็นที่อาศัยของพะยูน สัตว์สงวนสุดน่ารักของไทย ปี 2563 มีรายงานการสำรวจพบ 18 ตัวในบริเวณทะเลกระบี่นี้ ปี 2564 สำรวจจริงจังครั้งแรก ด้วยการบินสำรวจ พบพะยูน 13 ตัว เป็นพะยูนแม่ลูก 2 คู่

 

เที่ยวทิพย์...ชมพะยูน เรียนรู้แผนอนุรักษ์ฯ กับ “ดร.ธรณ์”

สุดท้าย ปี 2565 เราจะไปถึงเป้าหมาย พะยูน 280 ตัว ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งไว้หรือไม่ ต้องมาติดตามดูกัน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564