อายเลเวลรุกแฟรนไชส์กวดวิชา เล็งครึ่งปีหลังขยายสาขาอีก 7 ศูนย์รับตลาดแข่งเดือด

12 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
โกเบิลวิชชั่น เอ็ดดูเคชั่น จำกัดนำเข้าโรงเรียนกวดวิชาอายเลเวลไทยแลนด์ เล็งขยายธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ คาดครึ่งปีหลังเตรียมขยายสาขา 7 แห่งทั่วประเทศ โชว์จุดแข็งเน้นเทคนิคการสอนให้เด็กเข้าใจไม่ใช่ท่องจำ

ดร.พรชัย ศรีประไพ ที่ปรึกษา บริษัท โกลเบิลวิชชั่น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ผู้นำเข้าสถาบันการศึกษาเสริมสอนคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ อายเลเวลไทยแลนด์ (Eye Level Thailand) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การนำแบรนด์ อายเลเวล เข้ามาสู่ประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นสถาบันการเรียนเสริมนานาชาติ ทางด้านภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับใบอนุญาตสถาบันการศึกษาเสริมสอนคณิตศาสตร์และภาษาอันดับ 1 ของประเทศเกาหลีใต้ ได้รับรางวัลกิจการคุณภาพอันดับหนึ่งติดต่อกันในประเทศเกาหลีถึง 15 ปีซ้อน และมีการพัฒนาหลักสูตรมาตลอดระยะเวลา 40 ปี

โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของ "อายเลเวล ประเทศไทย" นั้นได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ปกครองและนักเรียน และกลุ่มผู้ที่สนใจที่จะทำธุรกิจทางด้านการศึกษา ปัจจุบันมีทั้งหมด 16 สาขาทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด รวมถึงมี 21 ประเทศมากกว่า 1,300 ศูนย์ทั่วโลก ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้บริษัทคาดว่าจะขยายสาขาเพิ่มอีก 7 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยมองพื้นที่การเปิดทั้งในกรุงเทพฯและต่างหวัด โดยการขยายสาขานี้ไม่จำกัดว่าจะเป็นกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัด แต่จะเน้นคุณภาพของแฟรนไชส์มากกว่าว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน และมีทัศนคติสอดคล้องกับบริษัทหรือไม่

อย่างไรก็ตามบริษัทมุ่งเน้นให้เด็กสามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องและด้วยความเข้าใจไม่ใช่วิธีการท่องจำสามารถนำความรู้นี้ประยุกต์ใช้ได้กับทุกวิชา ทุกโจทย์ ทุกปัญหา ขณะที่อัตราค่าเรียนเดือนละ 1,800 บาทต่อคนต่อเดือนสามารถเรียนได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งขึ้นอยู่กับผู้เรียนกำหนดช่วงเวลาเรียนเอง

ทั้งนี้ในด้านกลยุทธ์การตลาดบริษัทเน้นคุณภาพของโรงเรียนมากกว่ารายได้ เนื่องจากบริษัทเชื่อว่าการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพจะทำให้เกิดการบอกปากต่อปาก( Word of Mouth Marketing) มัดใจกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียน พร้อมทั้งยังมุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับ B+ ขณะเดียวกันบริษัทเชื่อว่าหลักสูตรการสอยของอายเลเวล ประเทศไทยจะได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากเด็กที่มาเรียนจะสามารถนำไปใช้ได้จริง

สำหรับด้านการแข่งขันของธุรกิจการศึกษาในประเทศเติบโตมาจากระบบสอนพิเศษ Tutor ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความสามารถของครูที่จะมาสอนเป็นหลัก แต่การเติบโตของระบบ Tutor แบบเดิมๆจะขยายตัวช้าลงเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้นสำหรับการศึกษาแต่ไม่ใช่ระยะยาว เนื่องจากเป็นการช่วยช่วยให้เด็กๆสอบผ่านระดับต่างๆแค่นั้น ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมตลาดโรงเรียนสอนการศึกษามีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นการเติบโตจากระบบ TUTOR ประมาณ 80% และการเติบโตแบบแฟรนไชส์ 20%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559