พอร์ตกองทุนบำเหน็จบำนาญผลตอบแทนบวก 2% ปรับกลยุทธ์รับมือ‘เบร็กซิท’

05 ก.ค. 2559 | 14:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กบข. ย้ำความมั่นใจสมาชิกล้านราย เงินออมกระทบน้อยจากเบร็กซิท เผย 6 เดือนแรกผลตอบแทนยังเป็นบวก 2% เหตุปรับกลยุทธ์ลงทุนไว้ล่วงหน้าแล้ว อีกทั้งเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในไทย เปิดผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งกองทุนอยู่ที่ 6.69% ต่อปี

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กรณีการลงประชามติของสหราชอาณาจักร ที่มีมติต้องการออกจากสถานภาพสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท เป็นเรื่องที่ กบข. วิเคราะห์และเตรียมการรับมือเอาไว้ล่วงหน้า โดยใช้ความระมัดระวัง

อีกทั้งได้มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนก่อนหน้านี้ ทั้งในสกุลเงินปอนด์ป้องกัน 63% และยูโร ป้องกัน 80% ของการลงทุนที่เป็นเงินสกุลดังกล่าว นอกจากนี้ในส่วนของการลงทุนในหุ้นได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นประเทศอังกฤษลงก่อนหน้าอยู่แล้ว

สำหรับผลกระทบต่อการลงทุนให้กับสมาชิก กบข. มีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ลงทุนในตราสารหนี้ไทย 65% อสังหาริมทรัพย์ 7% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไทย โดยมีการลงทุนในหุ้นประมาณ 20% ที่เหลือเป็นการลงทุนทางเลือกอื่นๆ

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เบร็กซิทแสดงให้เห็นว่าความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนสามารถเกิดได้บ่อยขึ้น ทุกภาคส่วนต้องทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง สำหรับ กบข. เองได้ติดตามสถานการณ์และวิเคราะห์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับกลยุทธ์การลงทุนระยะกลางและระยะยาวให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจอยู่เสมอ เพื่อให้ผลตอบแทนการลงทุนของ กบข. ยังคงเป็นไปตามเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้

ทั้งนี้ ณวันที่ 31 พฤษภาคม ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยตั้งแต่ตั้งกองทุน อยู่ที่ 6.69% ต่อปี ขณะที่ผลตอบแทนสะสมปี 2559 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน หลังเหตุการณ์เบร็กซิท ยังคงเป็นบวกอยู่ในระดับมากกว่า 2% ปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1 ล้านคน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 7.48 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้น พ.ค. 59)

นายสมบัติ กล่าวว่า กบข. ประเมินเบร็กซิท จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับต่ำ รวมทั้งตลาดเงินและตลาดทุนของไทย เพราะไทยทำการค้ากับอังกฤษน้อยและนักลงทุนอังกฤษเข้ามาลงทุนในไทยไม่มาก ประกอบกับ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เตรียมมาตรการรองรับเรื่องดังกล่าวไว้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวนของตลาดทุน และยังได้ติดตามสถานการณ์ว่ากลุ่มประเทศในอียูจะดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจไปในทิศทางใด พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยสามารถรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559