แฉร้านทองรายย่อยแจ้งเสียภาษีตํ่ากว่าจริง วอนแปลงเป็นนิติบุคคลเข้า ‘E-Payment’

30 พ.ค. 2559 | 10:30 น.
ผู้ประกอบการร้านค้าทองคำขนาดใหญ่กล่อมรายย่อย 7 พันแห่ง แปลงเป็นนิติบุคคล มองเป็นประโยชน์กว่าการเป็นบุคคลธรรมดาที่หักภาษีได้ 75 % เท่านั้น แฉปัจจุบันร้านทองแจ้งภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง มองการใช้ระบบเหมาจ่ายไม่เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรม กรรมการสมาคมค้าทองคำ รับร้านค้าปลีกอายุ 30-40 ปี ลำบากแน่ลงบันทึกบัญชี ด้านร้านทองตู้แดงเผยพร้อมเข้าระบบแต่ยังมึน

จากกรณีกรมสรรพากรมีนโยบายให้ร้านค้าทองคำโอนกิจการจากบุคคลธรรมดาไปเป็นนิติบุคคล โดยการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านทองที่มีกว่า 7 พันแห่งทั่วประเทศที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ให้จดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้เหตุผลว่าผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลจะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น

นายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ เพราะการเป็นบุคคลธรรมดาจะหักภาษีได้เพียงแค่ 75% เท่านั้น ซึ่งหากเข้าสู่ระบบนิติบุคคลจะสามารถบันทึกรายรับและต้นทุนได้ตามจริงๆ ซึ่งจะช่วยให้เสียภาษีลดลงได้ หรือหากราคาทองคำปรับตัวลงต่ำกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นก็นำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่ทุกวันนี้ร้านค้าทองส่วนใหญ่มีการแจ้งภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง มีความคุ้นเคยกับการหลบเลี่ยงการเสียภาษี หรืออาจจะเรียกว่าไม่ได้หลบเลี่ยงภาษีแต่ใช้วิธีการเหมาจ่าย ส่งผลทำให้เกิดความผิดพลาดไปทั้งระบบ

"หากร้านทองเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีน้อยลง แต่จะช่วยทำให้การทำบัญชีทั้งระบบดีขึ้น แต่ปัจจุบันร้านค้าทองรายย่อยใช้ระบบแบบเหมาจ่าย และมั่วในการบันทึกบัญชีทำให้ผู้ประกอบการทั้งต้นน้ำ รายใหญ่ ต่างก็หลบเลี่ยงภาษีไปด้วย แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้ร้านทองเป็นนิติบุคคล เพราะจะส่งผลดีต่อทั้งระบบอุตสาหกรรม"

ทั้งนี้สำหรับข้อเสียจริงๆของการเป็นนิติบุคคลนั้น น.พ.กฤชรัตน์ มองว่าคงเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในการทำระบบบัญชี แต่ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าการดำเนินการดังกล่าวสามารถนำไปหักค่าใช้จ่ายได้ จากเดิมซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาแล้วใช้วิธีแบบเหมาจ่ายค่าใช้จ่ายอาจจะถูกกว่าจริง แต่ในความเป็นจริงแล้วร้านค้าทองรายย่อยอาจจะยังไม่เข้าใจความหมาย และประโยชน์ที่แท้จริงของการเป็นนิติบุคคล จึงพยายามที่จะต่อต้าน โดยต้องความเข้าใจด้วยว่าโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากทำทุกอย่างแบบถูกต้องก็จะเป็นผลดีต่อทั้งตัวลูกค้าและร้านค้า

ขณะที่ในประเด็นเรื่องของกรอบระยะเวลาในการดำเนินการนั้น มองว่าทางกรมสรรพากรให้มาอย่างมากเกินพอ โดยมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ร้านค้าทองส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจ มีเพียง 1% เท่านั้นที่สนใจและดำเนินการ โดยในความเป็นจริงแล้วการดำเนินการจะใช้เวลาเพียงประมาณ 1-2 เดือนเท่านั้น

น.พ.กฤชรัตน์ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันร้านค้าทองอยู่ได้ด้วยการรับขายฝาก หรือที่เรียกว่าเป็นการรับจำนำทอง ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต (VAT) แต่จะเสียเพียงแค่ภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยเมื่อมีรายได้จากดอกเบี้ยในการรับฝาก 100 บาท ก็จะเสียภาษีให้รัฐประมาณ 3.3% เท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมองว่าอยากให้ดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามระบบ เพื่อจะได้ไม่เป็นการเอาเปรียบลูกค้า และเป็นผลดีต่อร้านด้วย

ด้านนายบุญเลิศ สิริภัทรวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ออสสิริส จำกัด กล่าวว่า มีร้านค้าปลีกทองคำหลายรายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นแนวนโยบายออกมาจากกรมสรรพากรเพื่อเชื่อมโยงกับระบบอี-เพย์เมนต์ (E-Payment) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะอย่างไรผู้ประกอบการร้านค้าทองทั้งหมดก็ต้องให้ความร่วมมือ และเข้าร่วมโครงการ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าร้านทองที่อยู่นอกระบบจะมีความยากลำบากในการลงบันทึกบัญชี เพราะไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งร้านค้าปลีกทองบางแห่งยังเปิดให้บริการมานานกว่า 30-40 ปี โดยที่เจ้าของร้านเป็นผู้สูงอายุ

แหล่งข่าวจากร้านค้าทองตู้แดงแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ให้ความเห็นว่า รับทราบถึงกระแสข่าวการให้ร้านทองเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว โดยส่วนตัวเองก็มองว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และเห็นด้วยที่จะทำให้ถูกต้องตามระบบ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาบ้าง เนื่องจากตามปกติแล้วจะไม่ได้มีการทำบัญชี จะใช้เป็นระบบเหมาจ่ายแบบเดือนต่อเดือน หากจะต้องมาทำบัญชีคงเป็นเรื่องใหม่ที่จะต้องเรียนรู้ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ

"หากการเข้าเป็นนิติบุคคลจะทำให้เสียภาษีน้อยกว่าการเหมาจ่ายที่เคยทำมาแต่เดิม ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อทางร้าน อีกทั้งทางร้านเองซึ่งตนเองเข้ามารับกิจการต่อจากรุ่นแม่ก็ต้องการดำเนินการทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความสบายใจ"

อนึ่งนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันมีร้านค้าทองที่เข้าระบบเสียภาษีในรูปนิติบุคคลแล้วประมาณ 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าทองขนาดใหญ่ ส่วนที่เหลืออีก 7 พันราย ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าทองขนาดเล็กที่ทำธุรกิจเป็นครอบครัว ไม่มีการลงบัญชีเป็นระบบจึงต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559