บิ๊กทุนชิงเดือด3เขตเศรษฐกิจ บ้านปู/ซี.พี.แลนด์/PFมาแรง/ส.ค.รู้ผลก่อนชง‘บิ๊กตู่’ไฟเขียว

18 พ.ค. 2559 | 04:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

3 เขตเศรษฐกิจพิเศษ มุกดาหาร ตราด หนองคายเนื้อหอม ทุนไทย-เทศแห่ซื้อซองประกวดราคา ธนารักษ์มั่นใจชิงดำเดือดจับตานิคมอุตฯบ้านปู มาแรงจองรวด3พื้นที่ บริษัทเงินทุน-ดีเวลอปเปอร์ ไม่น้อยหน้า ซี.พี.แลนด์ /พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟคตบเท้าสู้ ร่วมค้า”ไอเดียวิธไอดู”ร่วมทุนยุโรปสนมุกดาหาร-หนองคาย คู่แข่งจีน ไต้หวัน ด้าน“อธิบดีธนารักษ์” ย้ำ เอกชนที่ชนะประมูลสุดคุ้ม เหตุได้สิทธิประโยชน์สูงสุดจากบีโอไอ ทั้งรัฐลากโครงสร้างพื้นฐานจ่อพื้นที่ ดีเดย์ 21 ก.ค.ยื่นซองไม่เกินส.ค. ได้ผู้ลงทุนพร้อมชง”บิ๊กตู่”ไฟเขียว

[caption id="attachment_53886" align="aligncenter" width="700"] นักลงทุนที่สนใจประมูล สามเขตเศรษฐกิจพิเศษของกรมธนารักษ์ นักลงทุนที่สนใจประมูล สามเขตเศรษฐกิจพิเศษของกรมธนารักษ์[/caption]

จากกรณีที่กรมธนารักษ์เปิดขายซองพร้อมหลักเกณฑ์ การคัดเลือกผู้พัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดตราด หนองคายและมุกดาหาร ระหว่างวันที่ 4 เมษายน-19 พฤษภาคม 2559 เพื่อคัดเลือกเอกชนเพียงรายเดียวเข้าพื้นที่นั้น

ล่าสุด นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจซื้อซองประกวดราคา เพื่อพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง3จังหวัดดังกล่าวตามที่ประกาศเชิญชวนมากพอสมควร และจากการตรวจสอบรายชื่อเบื้องต้นพบว่า มีหลากหลายกิจการทั้งจากส่วนกลางและในท้องถิ่น ไม่ว่าเป็น บริษัทพัฒนาที่ดิน บริษัทเงินทุน บริษัทรับเหมา นิคมอุตสาหกรรม อาทิ บริษัท ตราดการโยธา 2002 จำกัด นิคมอุตสาหกรรมบ้านปู บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค จำกัด(มหาชน) เป็นต้น (ดูตารางประกอบ) อย่างไรก็ดีมั่นใจว่าทุกธุรกิจสามารถดำเนินการได้ และอาจใช้รูปแบบร่วมลงทุนกับต่างชาติที่มีความชำนาญด้านนิคมอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันที่ดินที่ราชพัสดุ ซึ่งกำหนดเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จะมีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก ไม่เกิน1 พันไร่ ดังนั้นการลงทุนจึงไม่สูงมากโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดไหนกำหนดรูปแบบให้เป็น”โลจิสติกส์” ก็ลงทุน เพียงปรับพื้นที่ สร้างโกดังและระบบขนส่งเชื่อมโยง ไม่ได้พัฒนาอะไรเพิ่ม ก็ยิ่งมีต้นทุนต่ำไม่เกิน ไร่ละ 1ล้านบาท หากกำหนดพื้นที่ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมการลงทุนก็ตกไร่ละ 2 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ค่าเช่าที่ดิน ซึ่งเป็นที่ดินรัฐจัดหามาให้ ราคาค่าเช่าค่อนข้างถูก แต่สามารถเปิดให้เช่าช่วงได้ระยะยาว 50 ปี อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์จูงใจสูงสุดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และรัฐลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานมาถึงหน้าแปลงที่ดิน ซึ่ง มองว่าคุ้มค่า เทียบกับเอกชนที่ลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้เช่า เชื่อว่า จะไม่ได้ต้นทุนที่ดินที่ต่ำและได้สิทธิประโยชน์ดังกล่าวแน่นอนอย่างไรก็ดีวันที่ 19 พฤษภาคม2559 จะเป็นวันสุดท้ายของการเปิดขายซองประกวดราคา มั่นใจว่าจะมีเอกชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง

ส่วนขั้นตอนที่จะได้ตัวเอกชนเพื่อรับสิทธิ์พัฒนาพื้นที่นั้น แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์กล่าวเสริมว่า หลังจากซื้อซองแล้ววันที่ 21 กรกฎาคม 2559 จะเปิดให้ยื่นซองเพียงวันเดียวจากนั้นจะพาผู้ยื่นซองลงพื้นที่ อย่างไรก็ดีหลังยื่นซองจะใช้เวลา 1 เดือนในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด หากใครให้ประโยชน์ด้านอาชีพ ด้านสังคมความเป็นอยู่ การสร้างแหล่งงาน การจ้างงาน ฯลฯก็รับสิทธิ์ดังกล่าวไป คาดว่าไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้จะทราบว่าเอกชนรายใดจะได้รับสิทธิ์พัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน3จังหวัด จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับรายชื่อผู้ที่ซื้อซองประกวดราคา มีบริษัทร่วมทุนร่วมด้วย ซึ่งล่าสุดมีนักลงทุนไทยร่วมทุน(จอยเวนเจอร์)กับประเทศแถบยุโรป อาทิ สวีเดน ฝรั่งเศสฯลฯ โดยใช้ชื่อว่า กิจการร่วมค้า “ไอเดีย วิธไอดู “ โดยแหล่งข่าวกล่าวว่าทางกลุ่มให้ความสนใจลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร และหนองคาย เป็นพิเศษ อีกทั้งกลุ่มทุนจีนและไต้หวันก็ให้ความสนใจเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดหนองคายเช่นกัน ซึ่งธนารักษ์พื้นที่จังหวัดหนองคายแจ้งว่า ได้พาดูพื้นที่ก่อนที่จะซื้อซอง

ทั้งนี้เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื้อที่ทั้งแปลง 718-0-46 ไร่ โดยรัฐบาลมีโครงการรถไฟกรุงเทพฯ - หนองคาย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเหมาะกับการลงทุนรูปแบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ ศักยภาพของที่ดิน และเป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนอื่นๆ และพื้นที่อยู่ใกล้สนามบินอุดรธานีเพียง 60 กิโลเมตร

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่2แปลงรวม 1,080-3-18.7 ไร่เหมาะกับการลงทุนด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมเสริมการท่องเที่ยวฯลฯ โดยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ เขตชายแดนมุกดาหารเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับแขวงสะ-หวัน-นะ-เขต สปป.ลาว มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาว เป็นอันดับสองของประเทศ ศักยภาพของที่ดิน อยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก เชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม ซึ่งเป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เนื้อที่ทั้งแปลง 895-0-44 ไร่เหมาะที่จะลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร โลจิสติกส์ ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ อยู่ใกล้ด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เชื่อมต่อเกาะกง ประเทศกัมพูชา ศักยภาพของที่ดินอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เชื่อมโยงถึงท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) และมีฐานการท่องเที่ยวในพื้นที่ เชื่อมโยงกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง ประเทศกัมพูชา

“ฐานเศรษฐกิจ”สอบถาม นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด ( มหาชน) กล่าวว่า สนใจเขตพัฒนาพิเศษจังหวัดตราด แต่รายละเอียดจะต้อง ศึกษาก่อนว่าจะดำเนินการแบบไหนอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,157 วันที่ 15 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559