Medical Tourism โอกาสที่ยังสดใสของไทย

14 พ.ค. 2559 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธุรกิจ Medical Tourism หรือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหลักประกอบไปด้วยผู้ป่วยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลในประเทศ และรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมทั้งใช้บริการด้านสุขภาพ อาทิ ตรวจสุขภาพทั่วไป ทำฟัน ทำศัลยกรรมความงาม

[caption id="attachment_52289" align="aligncenter" width="503"] จำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI จำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI[/caption]

ทั้งนี้ Allied Market Research (AMR) บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการทำวิจัยธุรกิจของโลก ประเมินธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกจะยังสดใส โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในธุรกิจนี้ในช่วง 8 ปีข้างหน้า (2558-2565) จะเติบโตเฉลี่ยถึง 15.7% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินว่าในปี 2565 มูลค่าตลาดของธุรกิจนี้จะสูงถึง 143.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทย 5 ล้านล้านบาท โดย 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดจะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผู้ครองส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ คือไทย อินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เนื่องจากมีความพร้อมด้านการบริการที่มีคุณภาพรวมถึงภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนในการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของประเทศ

สำหรับประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียกว่า 38% รั้งอันดับที่ 1 ของภูมิภาค โดยมีจุดแข็งด้าน "อุปทาน" คือคุณภาพการรักษาและการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับมาตรฐานสากล มีโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน JCI แล้วถึง 42 แห่ง มากกว่าอินเดีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ของเอเชีย

[caption id="attachment_52290" align="aligncenter" width="700"] ค่ารักษาพยาบาลในไทยไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ค่ารักษาพยาบาลในไทยไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับคู่แข่ง[/caption]

ส่วนจุดแข็งด้าน "อุปสงค์" ประเมินผ่านผลสำรวจความเห็นของผู้เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย (สำรวจโดย GFK Market Wise) พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเลือกมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย เนื่องจากบุคลากรแพทย์และพยาบาลมีการบริการที่ดี ระยะเวลาในการรอคิวเพื่อรับการรักษาที่สั้น มีชื่อเสียงที่ดีในเรื่องการรักษาพยาบาล มีเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล จะเห็นว่าไทยค่อนข้างมีความพร้อมทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ถือเป็นแต้มต่อที่จะช่วยสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อีกมาก

อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่างก็หมายมั่นที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจนี้ โดยเฉพาะคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ สิงคโปร์ อินเดีย และมาเลเซีย ที่ภาครัฐต่างต้องการผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของตนกลายเป็นฮับของภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น ไทยในฐานะเบอร์ 1 ของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของเอเชียควรที่จะตื่นตัวในการรักษาความสามารถทางการแข่งขันของตัวเองไว้ พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้น

การรักษาความสามารถทางการแข่งขัน: ไทยจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการรักษาอย่างต่อเนื่อง และต้องผลักดันให้โรงพยาบาลในประเทศได้รับการรับรองมาตรฐานสากล JCI มากขึ้น เนื่องจากมาตรฐานนี้จะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของการรักษาในภาพรวมระดับประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องเร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยในประเทศและผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นอกจากนี้ หากมีเทคโนโลยีการแพทย์ใหม่ๆ ผู้ประกอบการควรพิจารณานำเข้ามาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้คงอยู่ต่อไป

การแสวงหาโอกาสเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน: เราทราบดีว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวไทยกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 14% ต่อปี โดยในปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่ต่ำกว่า 32.5 ล้านคน อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจวัตถุประสงค์ของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย (สำรวจโดย GFK Market Wise) พบว่า ส่วนใหญ่ 73% ตั้งใจเข้ามาเพื่อท่องเที่ยวโดยตรง 21% ตั้งใจเข้ามาเพื่อทำธุรกิจ/เยี่ยมญาติ/ประชุม 4% ตั้งใจเข้ามาเพื่อฮันนีมูนและแต่งงาน และที่เหลืออีก 2% ตั้งใจเข้ามาเพื่อการใช้บริการรักษาสุขภาพ จะเห็นว่าแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในภาพรวมจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการรักษาสุขภาพมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งไทยสามารถแสวงหาโอกาสเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ ด้วยการประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติที่เข้ามารับรู้ว่า "ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพอันดับโลก พร้อมทั้งชูจุดขายด้านความเชี่ยวชาญการบริการสุขภาพที่มีอยู่หลายด้าน อาทิ ศัลยกรรมเสริมสวย การแปลงเพศ การจัดฟัน และศัลยกรรมกระดูก โดยการประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพต้องทำควบคู่ไปพร้อมกับการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันที่เริ่มสูงขึ้น การที่จะทำให้ประสบความสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ โดยในส่วนของภาคเอกชนจะต้องทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ภาครัฐจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้คอยสนับสนุนให้การดำเนินงานของภาคเอกชนเป็นไปโดยราบรื่น หากทำงานสอดประสานกัน เชื่อว่า "อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะมีทิศทางที่สดใสอย่างต่อเนื่อง และสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติให้เข้าสู่ประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ"

*ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

Photo Cover : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,156 วันที่ 12 - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"World Medical Tourism Market - Opportunities and Forecasts, 2015 - 2022"