พฤกษาจัดทัพสู่โฮลดิ้ง เป้า 5 ปีโกยรายได้แสนล้าน/ท็อปเทนแบรนด์เอเชีย

05 พ.ค. 2559 | 03:00 น.
พฤกษา เปิดโครงสร้างองค์กรภายในใหม่ หลังผู้ถือหุ้นมีมติเอกฉันท์ เรื่องการปรับโครงการธุรกิจสู่ "บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)" พร้อมเตรียมสรรหาผู้มีความรู้ความสามารถร่วมธุรกิจ แจงยังไม่มีบทสรุปเรื่องธุรกิจอื่น อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ตั้งเป้า 5 ปี โกยรายได้แสนล้าน

[caption id="attachment_49958" align="aligncenter" width="335"] เลอศักดิ์ จุลเทศ  ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม  บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เลอศักดิ์ จุลเทศ
ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม
บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นมีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการที่ทางคณะกรรมการบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จํากัด (มหาชน) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 ให้เสนอแผนการปรับโครงสร้างกิจการของบริษัท โดยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายใต้ชื่อ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน)โดยการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งถือเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.มุ่งมั่นที่จะเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจลูกค้า ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย มุ่งเน้นเรื่องของการบริการลูกค้า 2.ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 10 แบรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทวีปเอเชีย ในส่วนของยอดขายและรายได้ และ3.การสร้างธุรกิจให้ยั่งยืนและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญในเรื่องของบุคคลากร

"หากต้องการเป็น 1 ใน 10 แบรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของทวีปเอเชีย ยอดขายและรายได้ต้องมีอัตราการเติบโตในเปอร์เซ็นต์ที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ยอดขายมีอัตราการเติบโตที่น้อยกว่ารายได้ โดยมีระดับอยู่ที่กว่า .9 มาตลอด ด้วยเหตุนี้คุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จึงให้ทางบริษัท แมคเคนซี่ สมิท จำกัด เข้ามาศึกษาหาข้อเท็จจริงและเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ ซึ่งพบว่าบริษัทมีการเติบโตแบบเฉพาะกลุ่ม โดยการจะที่จะเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้นต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อก่อให้เกิดรายได้ที่สม่ำเสมอมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจให้เมาะสมทั้งในส่วนของทุนและบุคคลากร"นายเลอศักดิ์ กล่าว

[caption id="attachment_49957" align="aligncenter" width="700"] โครงสร้างบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โครงสร้างบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)[/caption]

สำหรับโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.คงความเป็นผู้นําในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่ออยู่อาศัยสําหรับผู้มีรายได้ระดับต่ำถึงปานกลาง (Value) 2.เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทในตลาดที่อยู่อาศัยระดับบน (Premium) คือ ทาวน์เฮ้าส์ระดับราคามากกว่า 7 ล้านบาท , บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาท , คอนโดมิเนียมระดับราคามากกว่า 1.5 แสนบาทต่อตร.ม.หรือราคามากกว่า 5 ล้านบาทต่อหน่วย และ3.หาโอกาสในการดําเนินธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง (Recurring Income) ที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นแผน 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ในปี 2563 ที่ประมาณ 1 แสนบ้านบาท

ในส่วนของกลยุทธ์ที่ 1 นั้น บริษัทได้มีการแต่งตั้ง นายปิยะ ประยงค์ ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจทาวน์เฮาส์ เป็นกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มแวลู พร้อมแต่งตั้งให้นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ที่เดิมดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม เป็นกรรมการผู้อำนวยการกลุ่มพรีเมี่ยม ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นตำแหน่งที่ตนบริหารอยู่เดิม ดังนั้นในโครงสร้างใหม่ตนจะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม (CO-CEO) เพื่อรอให้คุณทองมาขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน)

ทั้งนี้ คาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนรายได้ของกลุ่มแวลูจะอยู่ที่ประมาณ 85-90% และกลุ่มพรีเมี่ยมจะอยู่ที่ 10-15% เหตุที่สัดส่วนรายได้ของกลุ่มแวลูสูงกว่าก็เนื่องมาจากสัดส่วนรายได้ของประชาชนกลุ่มใหญ่อยู่ในระดับกลาง-ล่าง ประกอบกับตลาดพรีเมี่ยมมีผู้ประกอบการการที่เข้าไปทำตลาดก่อนหน้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่สัดส่วนทั้ง 2 กลุ่มจะใกล้เคียงกัน

สำหรับการหาโอกาสในการดําเนินธุรกิจใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นธุรกิจที่มีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องนั้น อาจเป็นธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญหรือธุรกิจใหม่ที่อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสทางการลงทุนในหลายธุรกิจ หากเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทไม่มีความเชี่ยวชาญก็จะเปิดโอกาสในการหาผู้ร่วมทุนหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งการลงทุนในธุรกิจใหม่นั้นบริษัทจะยึดหลักผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสําคัญและการปรับโครงสร้างกิจการในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้งจะทําให้บริษัทสามารถดําเนินการตามกลยุทธ์นี้ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"การเคลื่อนไหวของบริษัทโฮลดิ้งที่จัดตั้งขึ้นมาอาจยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในปีนี้ เนื่องจากต้องสรรหาผู้ร่วมทุนที่มีประสบการณ์และความชำนาญในธุรกิจที่บริษัทสนใจ ที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ลงทุนไปได้ผลตอบแทนไม่น้อยกว่าเดิม แต่จะเห็นรายชื่อกรรมการบริษัทอย่างแน่นอนภายในเดือนพฤศจิกายน 2559 ในส่วนการลงทุนในต่างประเทศภายใต้บริษัทโฮลดิ้งนั้น เบื้องต้นยังไม่มีแผนการดำเนินการแต่อย่างใด"

นอกจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่งและโครงสร้างภายในองค์กรแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นในเรื่องของการลดต้นทุนการดำเนินงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม และควบคุมห่วงโซ่การก่อสร้างที่เดิมบริษัทให้ระบบ REM (Real Estate Manufacturing) มาใช้ในการบริหารงาน แต่ในปัจจุบันได้มีการนำระบบ PMC (Project Management Control) มาเสริมในการควบคุมห่วงโซ่การทำงาน ซึ่งเป็นการดูแลตั้งแต่เรื่องของการซื้อที่ดินมาพัฒนาโครงการจนถึงขั้นตอนการส่งมอบสินค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 - 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559