เปิดหลักเกณฑ์ปลูกต้นไม้เกาะกลางถนน-ทางเท้า กทม.

12 มิ.ย. 2564 | 06:00 น.

เปิดหลักเกณฑ์ปลูกต้นไม้เกาะกลางถนน-ทางเท้า ในพื้นที่ กทม.ในโครงการ Green Bangkok 2030 ใช้ขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพฯเป็น Green City

ในปี 2573 กรุงเทพมหานครตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรให้ได้ 10 ตร.ม./คน นั่นหมายถึงในอนาคตกรุงเทพฯ จะกลายเป็นเมืองสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น่าอยู่ และประชาชนมีสุขภาพดี  

โครงการ Green Bangkok 2030 เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่กรุงเทพมหานครใช้ขับเคลื่อนนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้กรุงเทพฯเป็น Green City โดยไม่ต้องอาศัยปาฏิหาริย์แต่อาศัยความร่วมมือจากทุกคน

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินการ กรุงเทพมหานครได้เชิญชวน สนับสนุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ เช่น การปลูกต้นไม้ในสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ การทำสวนบนอาคารสูงและสวนแนวตั้ง

ตลอดจนการใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครในการบังคับใช้ประโยชน์พื้นที่ในการก่อสร้างให้มีพื้นที่ว่างเพื่อปลูกต้นไม้ การปลูกต้นไม้ริมถนน ฟุตบาท เกาะกลางถนน และพื้นที่สาธารณะต่างๆ 
 

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการปลูกต้นไม้ตามถนนที่มีเกาะกลาง  

  1. เกาะกลางถนนที่มีความกว้างมากกว่า 3 เมตรขึ้นไป ให้ปูหญ้า ไม้ดอกไม้ประดับ หรือไม้ยืนต้น
  2. เกาะกลางถนนที่มีความกว้าง 2 - 3 เมตร ให้ปลูกไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ไม้ประดับ
  3. เกาะกลางถนนที่มีความกว้าง 1 - 1.99 เมตร ให้ปูหญ้าและหรือปลูกไม้ประดับที่สามารถตัดแต่งได้ 
  4. เกาะกลางถนนที่มีความกว้างน้อยกว่า 1 เมตร ให้ใช้วัสดุปูพื้น 

หลักเกณฑ์การปลูกต้นไม้ตามถนนที่มีทางเท้า

  1. ทางเท้าที่มีความกว้างตั้งแต่ 3 เมตร และไม่มีกันสาดคลุม ให้ปลูกไม้ยืนต้น
  2. ทางเท้าที่มีความกว้างมากกว่า 4 เมตร และมีกันสาดคลุมให้ปลูกไม้ยืนต้นขนาดกลาง
  3. ทางเท้าที่มีความกว้าง 3 - 4 เมตร และมีกันสาดคลุม ให้พิจารณาปลูกไม้พุ่ม 
  4. ทางเท้าที่มีความกว้างน้อยกว่า 3 เมตร ให้พิจารณาใช้วัสดุปูพื้นและหรือจัดซุ้มไม้เลื้อยตามความเหมาะสม

ในส่วนของการพิจารณาคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและพื้นที่ กรณีต้นไม้ริมถนนหรือทางเท้า ควรพิจารณาต้นไม้ที่มีความสูงปานกลาง (5-15 เมตร) มีทรงพุ่มธรรมชาติและหนาทึบพอสมควร ไม่ต้องได้รับการตัดแต่งมาก ลำต้นและกิ่งก้านเหนียว ไม่ฉีกหักง่าย ระบบรากแข็งแรง มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงน้อย หลีกเลี่ยงไม้ผลัดใบและมีใบมาก และอาจพิจารณาเลือกต้นไม้ที่มีดอกสวยงาม รวมถึงมีศักยภาพในการดูดซับมลพิษและฝุ่นละอองได้ เช่น พิกุล อินทนิลน้ำ มะขาม ทองอุไร เหลืองปรีดียาธร ราชพฤกษ์ อโศกเซนคาเบรียล แคแสด และลำดวน เป็นต้น 

อีกทั้ง ควรพิจารณาขนาดของพื้นที่ ความกว้างที่เหลืออยู่ และความลึกของระดับท่อร้อยสายใต้ดิน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความลึกของรากต้นไม้ที่จะเจริญเติบโตลงไป ซึ่งในบางพื้นที่อาจมีความจำเป็นต้องเลือกปลูกเฉพาะไม้ประดับหรือไม้พุ่มแทนต้นไม้ใหญ่ เพื่อป้องกันการกระทบต่อระบบการร้อยท่อสื่อสาร และการเจริญเติบโตของต้นไม้
กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสีเขียว สิ่งแวดล้อมดี และไปถึงเป้าหมายได้สำเร็จ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งหากประชาชนหรือหน่วยงานใดมีที่ดินที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และประสงค์จะมอบให้กทม.นำไปพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.2 (ดินแดง) เพื่อให้กรุงเทพมหานครนำไปใช้ในการสร้างพื้นที่สีเขียว สร้างปอดสำรองให้แก่คนกรุงเทพฯ ต่อไป