"เราชนะ-ม33 เรารักกัน" ยอดใช้จ่ายพุ่ง 3 แสนล้าน

09 มิ.ย. 2564 | 07:05 น.

โฆษกรัฐบาล เผย “เราชนะ-ม33 เรารักกัน” มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาทจากการใช้จ่ายของประชาชนกว่า 41 ล้านคน

9 มิถุนายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มวงเงินเยียวยา 2,000 บาทต่อคน ในโครงการเราชนะ สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน เป๋าตัง  และโครงการ ม33 เรารักกัน หรือ ม.33 ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ประชาชนยังสามารถใช้จ่ายได้ถึง 30 มิ.ย. 2564 นั้น

ในส่วนของโครงการเราชนะ มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิทั้งสิ้น 33.1 ล้านคน แบ่งออกเป็น 1.กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน  2.กลุ่มผู้มีแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จำนวน 8.4 ล้านคน 3.กลุ่มผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเป๋าตัง จำนวน 8.6 ล้านคน และ 4.กลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 2.4 ล้านคน ทั้งนี้ เป็นผู้ที่ใช้จ่ายครบวงเงินตามสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว 17.6 ล้านคน โดย ณ วันที่ 1 มิ.ย. 2564

โครงการเราชนะ ทำให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วมูลค่ากว่า 257,997 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการและผู้ให้บริการได้รับประโยชน์มากกว่า 1.3 ล้านร้านค้าและกิจการ แยกเป็น มูลค่าการใช้จ่ายในร้านอาหารและเครื่องดื่มคิดเป็น 19.1 % ของมูลค่าการใช้จ่ายทั้งหมด ร้านธงฟ้า คิดเป็น 34.4 % ร้าน OTOP คิดเป็น 4.1 % ร้านค้าทั่วไปและอื่น ๆ คิดเป็น 40.4 % ร้านค้าบริการคิดเป็น 1.9 % และขนส่งสาธารณะคิดเป็น 0.1% 

ขณะที่โครงการ ม33 เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์รวมทั้งสิ้น 8.14 ล้านคน มียอดใช้จ่ายสะสมแล้ว ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 กว่า 39,317 ล้านบาท ผ่านร้านค้าทั้งสิ้น 1.07 ล้านร้านค้า ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องการเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มเป้าหมายจำนวนกว่า 41 ล้านคน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในเศรษฐกิจแล้ว 297,314 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ เช่น มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งรัฐสภาได้ผ่าน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 และ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อวงเงิน 250,000 ล้านบาท และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ 100,000 ล้านบาทเพื่อป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ เสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ SME ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้ติดตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดเวลาเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ "คนละครึ่ง" ระยะที่ 3 และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นต้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่จะออกมาในครึ่งปีหลังนี้ด้วย หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น  นายอนุชา โฆษกรัฐบาลกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง