กินยาคุมกำเนิดฉีดวัคซีนโควิดได้ "หมอยง"-"หมออนุตตร" ประสานเสียงยืนยัน

31 พ.ค. 2564 | 09:45 น.

หมอยง-หมออนุตตร เผยกินยาคุมกำเนิดสามารถฉีวดัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ชี้ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามปกติ

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า
    โควิด-19  วัคซีน เรื่องของฮอร์โมนเพศหญิง ยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์
    ยง ภู่วรวรรณ
    ข้อมูลที่ให้ จะตามหลักวิชาการ รายละเอียดต่างๆ คงต้องรอราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงให้คำแนะนำ
    ในเพศหญิงที่มีฮอร์โมนเพศหญิง หรือในยาคุมกำเนิด และในสตรีตั้งครรภ์ จะมีฮอร์โมนเพศหญิงสูงอยู่แล้ว และเป็นที่ทราบดีว่า เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด ในเส้นเลือดดำใหญ่ได้ (deep vein thrombosis, DVT) อุบัติการณ์ดังกล่าวในคนเอเชีย เกิดได้น้อยกว่าฝรั่ง และชาวแอฟริกาอย่างมาก 
    เวลาเรานั่งเครื่องบินท่านั่งอยู่กับที่นานๆ จะมีการแนะนำให้ขยับเท้าเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด แล้วเกิดลิ่มเลือด คนไทยเราไม่ค่อยเคยเห็น  แต่ในฝรั่งเกิดได้บ่อยกว่า
    การแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVTหรือ มีการพูดถึงฮอร์โมนเพศหญิง ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ไม่เหมือนกันการเกิดลิ่มเลือด ที่พบในวัคซีน virus vector เช่น AStraZeneca, Johnson &Johnson ซึ่งการแข็งตัวเกิดลิ่มเลือดนั้นจะมี “ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ” ด้วย ที่เรียกกันว่า VITT เป็นคนละโรคกัน และการรักษาก็ต่างกันกับการรักษาในผู้ป่วยที่มีการแข็งตัวของเลือดที่เส้นเลือดดำใหญ่ DVT เพราะเหตุที่เกิดไม่เหมือนกัน  

 ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ
    วัคซีน Sinovac เป็นเชื้อตาย คล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบ เอ ที่เป็นเชื้อตายเช่นกัน รวมทั้งวัคซีนบาดทะยักก็เช่นเดียวกัน เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานมาก
    การฉีดวัคซีนต่างๆก็ไม่มีวัคซีนตัวไหน ที่แนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิด รวมทั้งวัคซีน covid-19 ในปัจจุบัน ที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้าน dose  ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิดก่อนฉีดวัคซีน ชีวิตทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างปกติมากที่สุด ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ 
    อย่างไรก็ตามข้อมูลทั้งหมดคงต้องให้ทางราชวิทยาลัยสูติศาสตร์นรีเวชกรรม และกระทรวงสาธารณสุข ออกมาเป็นข้อแนะนำ จะดีที่สุด
    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอความคิดเห็นของพลอากาศโท นพ.อนุตตร  จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งโพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว Anutra Chittinandana ไขข้อข้องใจกรณีผู้ที่มีการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับคุมกำเนิดสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ ใจความว่า
    ในฐานะของหมอเมดไม่ใช่หมอสูติ เลยต้องอ้างอิงข้อแนะนำของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศอังกฤษ (Royal College of Obstretricians & Gynecologists) โดย Faculty of Sexual and Reproductive Healthcare (FSRH) เรื่องการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมกับการรับวัคซีนโควิด 19 โดยที่การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพิ่มขึ้น (ถึงแม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน) ซึ่งผู้รับการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมยอมรับต่อความเสี่ยงนี้ เมื่อเทียบกับผลดีจากการใช้การคุมกำเนิดดังกล่าวมีรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำเพียงไม่กี่รายหลังจากได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ และไม่มีข้อมูลว่าการคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมทำให้ความเสี่ยงนั้นเพิ่มขึ้นการได้รับวัคซีนโควิด 19 ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 

พลอากาศโท นพ.อนุตตร  จิตตินันทน์
    และป้องกันความรุนแรงของโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกมากมายจากข้อมูลที่มีอยู่จึงแนะนำให้ทุกคน รวมถึงผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 เมื่อมีโอกาสได้รับ และอย่ารอช้าในการรอวัคซีนบางชนิด
    ผู้ใช้การคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมไม่ควรหยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด  แผ่นแปะ หรือวงแหวนช่องคลอดเมื่อถูกเรียกให้ฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์  แต่ถ้าหากต้องการเปลี่ยนไปใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นเนื่องจากไม่ต้องการเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำในอนาคตก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ถึงพบน้อย แต่ควรทราบถึงอาการของลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำ เช่นปวดหัวต่อเนื่อง หายใจไม่ออก ไอเป็นเลือด บวมที่ขา หรือปวดท้องอย่างรุนแรง ซึ่งควรรีบมาพบแพทย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :