มุมมองของคนรุ่นใหม่ ต่อธุรกิจครอบครัว 

08 พ.ค. 2564 | 22:26 น.

บิสิเนส แบ็กสเตจ รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การมีแผนสืบทอดกิจการเป็นสิ่งจำเป็นในการรับมือกับสิ่งที่ไม่คาดคิด ไม่ว่าผู้นำธุรกิจครอบครัวกลายเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสียชีวิตกะทันหัน แต่บ่อยครั้งที่ธุรกิจครอบครัวไม่เคยทำแผนฉุกเฉินที่มีรายละเอียดแนะนำว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจและดำเนินธุรกิจต่อไป The STEP 2019 Global Family Business Survey ซึ่งทำการสำรวจผู้นำธุรกิจครอบครัวกว่า 1,800 รายจาก 33 ประเทศทั่วโลกพบว่ามีผู้นำครอบครัวเพียง 47 %เท่านั้นที่มีแผนดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ทายาทรุ่นต่อไปจึงมักรู้สึกว่าเป็นภาระที่จะต้องเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจแม้ว่าอาจจะไม่ต้องการหรือไม่มีทักษะและประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจเลยก็ตาม แต่ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมประจำชาติก็ทำให้การวางแผนสืบทอดธุรกิจในกรณีฉุกเฉินเป็นเรื่องยาก

เช่น สังคมตะวันออกหลายประเทศไม่สามารถพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุได้เนื่องจากถือเป็นเรื่องต้องห้าม จึงเป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจครอบครัวที่จะพิจารณาว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากจำเป็นต้องมีการสืบทอดกิจการในกรณีฉุกเฉิน

ขณะที่ซีอีโอของธุรกิจครอบครัวจำนวนมากตั้งข้อสังเกตว่าผู้นำรุ่นมิลเลนเนียลกำลังมีความสำคัญมากขึ้นต่อทิศทางในอนาคตของธุรกิจครอบครัวและการเลือกผู้สืบทอด โดยมีบทบาทในการจัดการกับปัญหาและโอกาสที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเร่งกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นดิจิทัลดังที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เป็นต้น และเมื่อมีความตั้งใจที่จะรักษาธุรกิจไว้ให้กับครอบครัว

มุมมองของคนรุ่นใหม่ ต่อธุรกิจครอบครัว 

ในบางกรณีสมาชิกในครอบครัวรุ่นต่อไปอาจได้รับโอกาสให้เข้าร่วมธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อบ่มเพาะพวกเขาสำหรับบทบาทความเป็นผู้นำในอนาคต แต่คนรุ่นมิลเลนเนียลจำนวนมากก็มีมุมมองและปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากรุ่นก่อน เนื่องจากพวกเขาแสวงหาอิสรภาพส่วนตัวมากขึ้นและเน้นการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมากขึ้นด้วย
 

Mr. Khalid Abunayyan ประธานบริษัท Abunayyan Holding ในซาอุดีอาระเบียอธิบายเกี่ยวกับมุมมองของคนรุ่นมิลเลนเนียลว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดและระบบนิเวศที่แตกต่างออกไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด แค่แตกต่างเท่านั้น คนรุ่นใหม่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ พวกเขามีความรวดเร็ว มุ่งเน้นเครื่องจักรและมีส่วนร่วมอย่างมากในโซเชียลมีเดีย

ซึ่งหากต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวและสืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อไปจะต้องมีความผูกพันทางจิตใจ และที่สำคัญจะต้องเห็นว่านี่คือธุรกิจที่มีเป้าหมายและสร้างคุณค่าต่อสังคมจึงจะเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นพวกเขาได้ อีกทั้งยังต้องตระหนักว่าความผูกพันต่อธุรกิจของผู้สืบทอดรุ่นต่อไปอาจไม่ลึกซึ้งเท่าผู้ประกอบการรุ่นแรกที่ชีวิตและธุรกิจมักจะเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง

นอกจากนี้ Mr. Andy Wates ผู้อำนวยการของ Wates Group ในสหราชอาณาจักร เห็นว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือการให้สมาชิกในครอบครัวเข้าร่วมธุรกิจแล้วรู้สึกไม่พอใจครอบครัวที่ทำให้พวกเขาต้องเข้ามาอยู่ในธุรกิจนี้ ขณะที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวในจีนเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างคนรุ่นต่างๆในแง่ของสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโต การศึกษา ค่านิยม วิธีคิดและความเข้าใจโลกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้

เช่น ผู้ประกอบการรุ่นแรกจำนวนมากในจีนสร้างบริษัทของตนเพื่อความอยู่รอดและเพื่อผลกำไรมากที่สุด ในขณะที่ผู้สืบทอดรุ่นที่ 2 เมื่อเริ่มเข้ามารับช่วงต่อพวกเขากลับมุ่งไปที่ภารกิจในการสร้างมูลค่ากว้างขึ้น โดยเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนขององค์กร เป็นต้น

ดังนั้นปัจจุบันจึงเห็นว่ามีธุรกิจครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่เปิดโอกาสให้ทายาทสามารถประกอบอาชีพอื่นภายนอกบริษัทได้ และสามารถเข้าร่วมธุรกิจครอบครัวได้ในภายหลัง โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาในธุรกิจและอยู่ไปตลอดชีวิตเหมือนอย่างที่คนรุ่นก่อนๆ เคยทำมาก็ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งครอบครัวและธุรกิจ โดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :