ชุมชนคลองเตยน่าห่วง โควิดลาม! อยู่อาศัยแออัด9หมื่นคน

03 พ.ค. 2564 | 04:38 น.

ชุมชนคลองเตยน่าห่วง โควิดลาม! อยู่อาศัยแออัด9หมื่นคน

 

กลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่  ของการระบาดเชื้อโควิด-19 ในเขตกรุงเทพมหานครที่หลายคนคาดไม่ถึง สำหรับชุมชนคลองเตย ตั้งอยู่บนพื้นที่2,353ไร่มีผู้คนอยู่อาศัยราว80,000-90,000 คน  จับจองที่ดินปลูกสร้างที่อยู่อาศัย75,000หลังชนิดหลังคาเกยกันหลังชนหลังจากการบุกรุกที่ดินหน่วยงานราชการโดยเฉพาะการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ที่ผ่านมาแม้รัฐจัดหาหาพื้นที่ใหม่ให้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี  แต่การย้ายคงเป็นไปได้ยากสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะทำเลสุดคลาสสิคริมแม่น้ำเจ้าพระยาพระราม4 ชัยภูมิตั้งอยู่ กลางใจเมืองเดินทางสะดวกทำมาค้าขาย คล่องตัว  ทำให้ที่นี่กลายเป็นสวรรค์บนดินชาวสลัมจนยากที่จะเจรจา

จากความแออัดใช้ชีวิตบนพื้นที่คับแคบเมื่อรัฐบาลและกรุงเทพมหานครมีคำสั่งให้ พื้นที่กทม.ยกระดับเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ให้ข้าราชการตลอดจนประชาชนทำงานใช้ชีวิตติดกับบ้าน เพื่อลดการกระจายเชื้อไปตามที่ต่างๆแต่ตามข้อเท็จจริงแล้วกลับกลายเป็นการระบาดกันเองภายในครอบครัวและรุกลามไปในชุมชนที่วันนี้กรุงเทพมหานคร ตลอดจนกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาทางกู้วิกฤติ

 ชุมชนคลองเตยน่าห่วง โควิดลาม! อยู่อาศัยแออัด9หมื่นคน

ทั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจเชิงรุกเพื่อสกัดเชื้อให้หยุดอยู่ภายในชุมชนจากรถพระราชทาน หลังตรวจหาเชื้อแล้วกว่า1,000ราย พบคนในชุมชนติดเชื้อกว่า300ราย และอาจกลายเป็นฝันร้ายของกทม. หากไม่สามารถหยุดการระบาดคลัสเตอร์นี้ได้ ท่ามกลางเตียงฉุกเฉิน(ไอซียู)เต็มโรงพยาบาลสนามรองรับไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับพลเมืองกรุงเทพฯที่ติดเชื้อมีอาการโคม่าล้มตายเป็นใบไม้ร่วง

ย้อนไปในอดีต กว่า50ปีก่อน บริเวณท่าเรือคลองเตยริมแม่น้ำเจ้าพระยาถือกำเนิดขึ้นเมื่อครั้งที่ประเทศไทยกำลังเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับแรกๆช่วงที่รัฐโดยกทท.ผลักดันอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ทำให้รัฐบาลต้องสั่งสินค้าเครื่องจักรและวัตถุดิบจากต่างชาติ ท่าเรือคลองเตยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางน้ำจึงมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากในการขนถ่ายสินค้า แรงงาน

ชนวนนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคนกลุ่มแรกที่ทำให้เกิดชุมชนคลองเตย เพราะเมื่อไม่มีที่ซุกหัวนอน เหล่าแรงงานทั้งหลายจึงบุกเบิกถิ่นฐานบนที่ดินของ กทท.จนกลายเป็นชุมชนคลองเตยในที่สุด และวันนี้เมื่อกทท. เตรียมล้างภาพชุมชนแออัด นำที่ดิน400ไร่พัฒนาเป็นเมืองมิกซ์ยูสคล้ายสิงคโปร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคงต้องจับตาว่าหากการพัฒนาไม่กระทบความเป็นอยู่ของคนในชุมชนเชื่อว่าโครงการนี้น่าจะผ่านไปด้วยดี