คลัง รอจังหวะดีขายหุ้นในมือ ยึดหลักไม่ขาดทุน

07 เม.ย. 2564 | 07:21 น.

ผอ.สคร. ชี้ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องรีบขายหุ้นที่คลังถือในมือ แต่หากต้องการใช้เงิน หรือไม่จำเป็นต้องถือหุ้นนั้นต่อ ก็สามารถขายได้ แต่ต้องไม่ขาดทุน ย้ำเป็นนโยบายบริหารหุ้นที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องรีบขายหุ้นที่กระทรวงคลังถืออยู่ แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อลงทุน หรือ คลังไม่มีความจำเป็นต้องถือหุ้นตัวนั้นต่อ ก็สามารถขายได้ แต่ต้องดูจังหวะที่เหมาะสม ตามหลักการคือต้องไม่ขาดทุน ซึ่งถือเป็นการบริหารหุ้นให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด

“การจะขายหุ้นที่คลังถืออยู่ จะต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม และความจำเป็นในการใช้เงิน รวมทั้งนโยบายขณะนั้น เช่นการขายหุ้นบางจาก เพื่อไปซื้อหุ้น OR ตามสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น ปตท. ซึ่งจากราคาหุ้นปัจจุบันก็ได้กำไรสูง ก็ถือต่อไปก่อน หรือ กรณีหุ้นการบินไทย ที่คลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้น เพราะบริษัทต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟู ก็ต้องปรับลดสัดส่วนลงตามความเหมาะสม” ผอ.สคร. กล่าว

ปานทิพย์ ศรีพิมล ผอ.สคร.

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวด้วยว่า การบริหารหุ้นดังกล่าว เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการในปี 2559 เรื่องการจำหน่ายหลักทรัพย์ของรัฐ ซึ่งสามารถจำหน่ายทรัพย์ได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักทรัพย์ ได้แก่ 1.หลักทรัพย์ที่ได้มาจากการยึด 2.หลักทรัพย์ที่ได้รับโอนมาจากส่วนราชการอื่น เนื่องจากหมดความจำเป็นตามนโยบายของภาครัฐ และ3.หลักทรัพย์ที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องถือครอง โดยให้อำนาจกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา วิธีการ ราคา และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการจำหน่ายหลักทรัพย์แต่ละตัว โดยหลักการคือการขายต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ได้มา ขณะที่หลักทรัพย์บางตัวที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ในอดีต ทายาทสามารถมาซื้อคืนได้ในราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลักทรัพย์ที่เข้าเงื่อนไขใน 3 กลุ่ม ประมาณ 20 หลักทรัพย์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ข้อมูลสถานะหุ้นของกระทรวงการคลัง ณ วันท่ี 9 มี.ค. 2563 กระทรวงการคลังถือครองหุ้นรวม 119 แห่ง มูลค่ารวม 2,035,891.42 ล้านบาท แบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 22 แห่ง โดยเป็นรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง มูลค่า 1,360,572.35 ล้านบาท เป็นบริษัทเอกชน 14 แห่งและเอกสารแสดงสิทธิ์ 2 หลักทรัพย์ มูลค่า21,412.40 ล้านบาท 

หลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 57 แห่ง เป็นรัฐวิสาหกิจ 14 แห่ง มูลค่า 311,563.20 ล้านบาท เป็นบริษัทเอกชน 43 แห่ง มูลค่า 5,043 ล้านบาท และบริษัทที่มีสถานะพิเศษ 35 แห่ง กองทุนรวม 5 แห่ง แบ่งเป็น กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง 1 แห่ง มูลค่า 331,457.30 ล้านบาท หน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศ(TFFIF) 1 แห่ง มูลค่า 5,840 ล้านบาท และหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ 3 แห่ง มูลค่า 39.44 ล้านบาท