อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ปิดเช้านี้ที่ระดับ 31.20บาท/ดอลลาร์

02 เม.ย. 2564 | 00:29 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวโน้มแข็งค่าได้อีก ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.20 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดการเงินอาจมีการซื้อ ขาย ที่ไม่คึกคักมากนัก เหตุเป็นวันหยุด Good Friday ในเทศกาลอีสเตอร์ของหลายประเทศ

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หนุนโดยความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่งจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมโดย ISM ในเดือนมีนาคมปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด สู่ระดับ 64.7 จุด ซึ่งทั้งสองปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ล้วนปรับตัวสูงขึ้น โดย ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นราว 1.2% ทำจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า 1.8% โดยหุ้นเทคฯ ก็ได้รับแรงหนุนจากการที่ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงกว่า 7bps สู่ระดับ 1.67%

ส่วนในฝั่งยุโรป นักลงทุนก็พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงเช่นกัน โดย ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปิดบวก 0.7% แม้ว่าโดยรวมแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป อาจชะลอตัวลงในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจากปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19

 

นอกจากนี้ ในส่วนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมันดิบทั้ง WTI และ Brent ก็สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น และยืนเหนือระดับ 61.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 64.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้  หลังจาก ที่ประชุมสมาชิก OPEC+ ยังคงมองแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น หนุนโดยการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในฝั่งสหรัฐฯ ทำให้กลุ่ม OPEC+ ตัดสินใจที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตวันละ 2 ล้านบาร์เรล ในเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ซึ่งแม้จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต ทว่าความต้องการน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าปริมาณการผลิตน้ำมัน (Supply Deficit)

 

ในส่วนตลาดค่าเงิน ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลงแตะระดับ 92.9 จุด ทำให้ ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) ต่างแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.178 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.383 ดอลลาร์ต่อปอนด์ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ได้ช่วยให้ ราคาทองคำ รีบาวด์กลับขึ้นมา สู่ระดับ 1,730 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะจับตาสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาคึกคักมากขึ้น และส่งผลให้ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนมีนาคม จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 6 แสนตำแหน่ง หนุนให้อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 6.0%

 

อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินอาจมีการซื้อ ขาย ที่ไม่คึกคักมากนัก เนื่องจากเป็นวันหยุด Good Friday ในเทศกาลอีสเตอร์ของหลายประเทศ แต่ก็ต้องระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น หากมีธุรกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และราคาทองคำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าการแข็งค่าดังกล่าว อาจจบลงได้ หากเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น จากความหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง อาทิ รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่ออกมาดีเกินคาดไปมาก นอกจากนี้ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เงินบาทก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง จากแรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศในช่วงการจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่า ควรจับตา โฟลว์จ่ายปันผลในข่วงสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ที่อาจมีโฟลว์จ่ายปันผลกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท (โดยรวมตลอดช่วงเดือนเมษายน ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม อาจมียอดจ่ายปันผลกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท)

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ในช่วงไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงิน ขณะที่ผู้นำเข้าที่ยังไม่มีภาระที่ชัดเจน อาจเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ การทำออพชั่น (Options) เพราะเงินบาทยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้

 

กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15-31.30 บาท/ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเช้านี้ (2 เม.ย.) ปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ ขยับอ่อนค่าลงตามการปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในคืนนี้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ก็มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากการย่อตัวลงของทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีลดลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 1.70%) ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.95-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.