‘รัตนากร แอสเซท’ ท้าชน AWC ไล่ซื้อที่ดิน

19 มี.ค. 2564 | 04:35 น.

อสังหาฯ เบอร์หนึ่งภาคตะวันออก “รัตนากร แอสเซท” ตั้งงบช็อปทรัพย์ถูก รับโอกาสทองโควิด-19 ไม่กลัวรายใหญ่ AWC ปี 63-64 ปูพรมซื้อดินศักยภาพ  ภูเก็ต 20 แปลง-3 จังหวัดอีอีซีตุนแลนด์แบงก์ในมือแล้ว  2,400 ไร่ไม่รวมคอนโดฯ-โรงแรม-รีสอร์ท รอจังหวะพลิกทำกำไรระยะยาว 7-10 เท่า

 

 

 

 

ในขณะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดโควิด-19 แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นโอกาสทองของบริษัทขนาดใหญ่ ช้อนซื้อกิจการ สำหรับรายที่ขาดสภาพคล่องเดินต่อไปไม่ไหว ไม่เพียงบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน) หรือ AWC หนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใต้ปีกเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งกองทุนหมื่นล้านบาท ช็อปทรัพย์ราคาถูกเพียงเท่านั้น แต่มีกลุ่มทุนภูมิภาค ไม่กลัวรายใหญ่ตั้งงบซื้อที่ดิน, โรงแรม, ซากอาคารร้าง เข้าพอร์ต รอโอกาสทำกำไร เช่นเดียวกัน

อย่างบริษัท รัตนากรแอสเซท จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จังหวัดชลบุรี เบอร์หนึ่งโครงการพัฒนาบ้านแนวราบในภาคตะวันออกมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี 2548  ที่ นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ รัตนากรแอสเซทยืนหนึ่งตลอดกาลในจังหวัดชลบุรี มองว่าเป็นโอกาสทอง จากการมาของโควิด โดยปีที่ผ่านมา (ปี2563) ตั้งงบวงเงิน 4,000 ล้านบาทซื้อทรัพย์ ที่เปล่า 40%  โรงแรม 20% อพาร์ทเมนต์ 10% อื่นๆ 30% อาทิ โกดัง  อาคารร้าง โดยราคาต่ำกว่าราคาตลาดกว่า 50%

ที่ได้ราคาต่ำ เจ้าของที่ดิน เจ้าของอาคารล้วนขาดสภาพคล่อง ชลบุรีกระทบ กว่า 80% เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวไม่เข้ามาย่อมอยู่ยาก และปีนี้ (2564) ตั้งงบซื้อ 2,500 ล้านบาท เหตุผลที่ตั้งวงเงินไว้ไม่มาก นายจักรรัตน์ อธิบายว่า ราคาทรัพย์เริ่มสูงขึ้น แต่หากโควิดอยู่ยาว มองว่า การเจรจาต่อรองย่อมมีมากขึ้น ใครสายป่านยาว ย่อมได้เปรียบบริษัทเองไม่เกรงกลัวบริษัทรายใหญ่ที่เข้ามาไล่ช็อปที่ดินโรงแรมในพื้นที่หรือจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่บริษัทจะไปแต่อย่างใด  

 

‘รัตนากร แอสเซท’  ท้าชน AWC  ไล่ซื้อที่ดิน

 

 ปีที่ผ่านมา ได้เจรจาซื้อที่ดินที่ภูเก็ต 20 แปลง ปัจจุบันมีที่ดินสะสมรอพัฒนา 2,400 ไร่ และยังมีการเจรจาอีกหลายแปลงสำหรับเป้าหมายการเลือกทรัพย์จะพุ่งเป้าไปที่หัวเมืองท่องเที่ยวเมืองเศรษฐกิจสำคัญ รอจังหวะเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาเป็นปกติ

ทั้งภาคท่องเที่ยวตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จ บริษัทใช้เทคนิคการบริหารจัดการจนเกิดกระแสเงินสดหมุนเวียน จากการซื้อที่ดินมาในราคาถูก รอเวลา 10 ปีจนมีมูลค่าเพิ่ม 5 เท่า และต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นโครงการ จะมีมูลค่าเพิ่มอีก 2-3 เท่า หรือ มีมูลค่าเพิ่มรวม 7-8 เท่า และหากขายโครงการออกไปจะเพิ่มผล กำไรเป็น 10 เท่า หรือลงทุนเพียง 1 บาท 10 ปีเพิ่มมูลค่าเป็นกำไร 10 บาท หากขายบ้านในโครงการได้

 นายจักรรัตน์ ยกตัวอย่าง หากพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรในปีปี 2564-2565 แปลงที่ดินที่นำมาลงทุน จะเป็นแปลงที่ซื้อรอไว้ ไม่เกินปี 2550 จะหากพัฒนาโครงการในปี 2575 ที่ดินที่นำมาพัฒนาต้องซื้อไว้ปี 2560 โดยมองว่า อนาคตเมืองขยายตัว รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเจริญให้กับพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความต้องการที่อยู่อาศัยตามมา

                “สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จ 1.สภาพคล่อง 2.ที่ดิน 3.คน และนำสภาพคล่องที่ถือมาพัฒนาเป็นโปรเจ็กต์ ที่บริษัทยึดถือมาโดยตลอด”    

             

 

 

   อย่างไรก็ตามในภาพรวม ยอมรับการมาของโควิด ปี 2563 ฉุดกำไรลดลงมากถึง 12% เมื่อเทียบกับช่วงปกติ เฉลี่ยต่อปีมักมีกำไร ไม่น้อยกว่า  1,500 ล้านบาท จากขนาดทรัพย์สินมูลค่ารวมกว่า 33,000 ล้านบาท มีบริษัทในเครือกว่า 40 บริษัท 26

กลุ่มธุรกิจแบบครบวงจร ธุรกิจหลัก ประกอบด้วยโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม โรงแรม ค้าปลีก แวร์เฮ้าส์ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจเพื่อสุขภาพ โรงงานปุ๋ย โรงเรียน ร้านอาหาร ตลาด วัสดุก่อสร้าง นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ ด้วยธุรกิจที่มีหลากหลายเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด ธุรกิจไหนกระทบมากจะชะลอการลงทุนออกไปและผลักดันธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย ให้ผลตอบแทนสูงมาขับเคลื่อนแทนคาดว่าไม่เกินปีนี้บริษัทจะทำให้กำไรกลับมายืนที่เดิม

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง