คดี“ค่าโง่โฮปเวลล์”ศาลปกครองขอดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม 

17 มี.ค. 2564 | 09:25 น.

คดี“ค่าโง่โฮปเวลล์”ศาลปกครองขอดูคำวินิจฉัยศาลรธน.ฉบับเต็ม ชี้ไม่กระทบคดีที่พิพากษาเด็ดขาดแล้ว แม้ใช้เป็นข้ออ้างรื้อคดีไม่จ่าย 2.4 หมื่นล้าน ก็ยังต้องดูว่าข้อเท็จจริงใหม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ก.ม.กำหนดหรือไม่ ยันมติศาลปค.ไม่เคยประกาศราชกิจจา-ส่งสภา เหตุไม่ใช่ระเบียบ


คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ที่กำหนดให้การนับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.2544  มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนั้น

วันนี้ (17 มี.ค.64) นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อนว่า ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน ขณะนี้ทราบแต่จากเพียงเอกสารข่าวเท่านั้น 

แต่โดยหลักแล้ว คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้น  มีแนวใหม่ หรือมีคำวินิจฉัยใหม่ ก็จะไม่กระทบกับคดีที่พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปก่อน 
ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ก็จะนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร
 

สำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีผลต่อการขอพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่หรือไม่ โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า คดีโฮปเวลล์ เคยมีการขอพิจารณาคดีใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด เห็นตรงกันว่า ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่การขอพิจารณาคดีใหม่อาจจะขอได้อีก โดยอ้างเหตุใหม่ 

ฉะนั้น ถ้าคู่กรณียกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลก็จะพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่ใช้เหตุผลเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่และเป็นข้อเท็จจริงใหม่ ก็จะพิจารณาต่อไปว่า แล้วเข้าเกณฑ์ที่จะรับพิจารณาคดีใหม่ ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องขอดูคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีรายละเอียดเป็นอย่างไร แล้วจึงมาพิจารณาต่อไปว่า เข้าเกณฑ์อนุมาตราใดของมาตรา 75 แล้วใช้ดุลยพินิจตามหลักฐานนั้น

 

“มันไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแบบนี้ แล้วมันจะกระทบไปยังคดีเดิม เพราะคดีนั้นศาลพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ถ้าทุกคนนิ่งก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ศาลวินิจฉัยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่จะไม่นิ่งก็เมื่อคู่กรณีใช้ช่องทางขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางที่เป็นสิทธิของคู่กรณี เมื่อขอมา ศาลก็พิจารณา หากพิจารณาคำวินิจฉัยเต็มของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เห็นว่ามันเข้าเกณฑ์พิจารณาใหม่ ตามมาตรา 75 ก็สามารถรับพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่ถ้าดูแล้วไม่เข้าเกณฑ์ ถึงจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญตรงนั้น ก็ต้องยกไม่รับคำขอเหมือนกับคดีที่แล้ว”

นายประวิตร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาศาลปกครองไม่เคยมองว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เป็นระเบียบที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบ ตามมาตรา 5 มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 

แต่มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เป็นไปตามมาตรา 68 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ที่กำหนดว่า กรณีประธานศาลปกครองสูงสุด เห็นสมควรที่จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด คดีใด ให้เสนอที่ประชุมใหญ่พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาหากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คดีนั้นมีปัญหา หรือเป็นคดีสำคัญ หรือเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์สูงก็จะจะนำเข้าที่ประชุมใหญ่พิจารณาข้อเท็จจริงในคดีนั้นๆ ซึ่งทำกันเกือบทุกเดือน

โดย “คดีโฮปเวลล์” เป็นการพิจารณาปัญหาว่าจะนับอายุความอย่างไร ก็เลยเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเมื่อเป็นมติที่ประชุมใหญ่แล้วก็ไม่ต้องทำอะไรต่อก็นำไปใช้บังคับเลย โดยศาลปกครองก็ถือปฏิบัติตามนี้มาจนเวลานี้ มติที่ประชุมใหญ่มีเป็นร้อยเรื่อง และไม่เคยส่งไปประกาศราชกิจจาหรือส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ จึงต้องดูว่า มตินี้เป็นระเบียบเพราะอะไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :