พลังงาน-สาธารณสุข-มูลนิธิแพทย์ชนบทลุยนำร่องติดโซลาร์เซลล์ 8 โรงพยาบาล

04 มี.ค. 2564 | 12:10 น.

พลังงาน-สาธารณสุข-มูลนิธิแพทย์ชนบทลุยนำร่อง 8 โรงพยาบาลไฟจากฟ้าติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ตั้งเป้า 77 โรงพยาบาลชุมชน 77 จังหวัดทั่วประเทศ

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิแพทย์ชนบท จัดกิจกรรมกิจกรรม “101 วัน จากแสงแรกสู่โรงพยาบาลไฟจากฟ้า ซึ่งจะนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับ 8 โรงพยาบาล ในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ โรงพยาบาลไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี โรงพยาบาลบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โรงพยาบาลขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โรงพยาบาลย่านตาขาว จังหวัดตรัง โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร โรงพยาบาลบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และโรงพยาบาลปลวกแดง จังหวัดระยอง

              ทั้งนี้  ระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิต 100 กิโลวัตต์ จะสามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึงเดือนละประมาณ 60,000 บาท ดังนั้นในระยะเวลา 1 ปี โรงพยาบาลจะสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 720,000 บาท โดยแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี จึงสามารถช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 18 ล้านบาท

“โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายจะดำเนินการทั้งหมด 77 โรงพยาบาล 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการขยายไปพื้นที่อื่นๆ เช่น ชุมชน และ โรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป”

โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการต่อยอดแคมเปญ “Clean Energy for Life ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ตามมาตรา 97 (5) เพื่อต้องการสร้างความตระหนักรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้กับประชาชน และสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาตระหนักเรื่องประโยชน์ของการใช้พลังงานสะอาดในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ สำนักงาน กกพ. โดยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาด และมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามความตกลงปารีส หรือ COP 21  ที่มีเป้าหมายจะรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม สำหรับของประเทศไทย ตาม NDC (Nationally Determined Contribution) ที่เสนอไปนั้น กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 หรือจำนวน 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงานให้ตอบโจทย์ทิศทางของโลกและข้อตกลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ “ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” และตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ก็ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 37% ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

นอกจากนี้ ยังนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ และที่สำคัญเกิดพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลและนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในแต่ละปีโรงพยาบาลมีภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งโครงการความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล และสามารถนำงบประมาณรายจ่ายค่าไฟฟ้าที่เหลือจ่ายจากการจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลงไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การซื้ออุปกรณ์การแพทย์ จัดหาเวชภัณฑ์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์

และสนับสนุนระบบสาธารณสุขของประเทศให้มีความพร้อมทั้งต่อสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19)และการบริการทั่วไปให้กับประชาชน ให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น โรงพยาบาลไทรน้อยซึ่งเป็นหนึ่งใน 8 โรงพยาบาลนำร่องที่ได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้ ได้มีเป้าหมายจะนำเงินส่วนต่างของค่าไฟฟ้า ไปดำเนินการจัดหาเตียงไฟฟ้ารองรับผู้ป่วยติดเตียง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :