ธุรกิจรายใหญ่หันกู้แบงก์แทนระดมทุน หนุนสินเชื่อโต 5.1%

22 ก.พ. 2564 | 14:05 น.

ธปท.เผยผลดำเนินงานระบบธนาคารพาณิชย์ปี2563 ธุรกิจรายใหญ่หันกู้แบงก์เพิ่ม 13%หนุนสินเชื่อทั้งระบบขยายตัว 5.1%

นางสาว สุวรรณี เจษฎาศักดิ์  ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2563  โดยระบุว่า  ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.1% สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวได้ 2.0% ส่วนใหญ่สินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่ม 5.1%เนื่องจากธุรกิจบางส่วนหันมากู้เงินจากธนาคารพาณิชย์แทน (ส่วนการระดมผ่านตลาดตราสารหนี้ โดยในปี2563มีการขยายตัวในอัตราราว 3.8%ชะลอตัวลงจากในรอบปี2561-2562) 

โดยสินเชื่อที่ขยายตัว 5.1% เป็นสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในอัตรา 5.4%คิดเป็นสัดส่วน 34.2%ของสินเชื่อรวม  ขณะที่สินเชื่อรวมอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราชะลอลงสอดคล้องกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอุปโภคบริโภคที่ชะลอลง 

สำหรับสินเชื่อธุรกิจที่ขยายตัวที่ 5.4% แบ่งเป็นธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อน้อยกว่า 500 ล้านบาท  และธุรกิจที่วงเงินสินเชื่อมากกว่า 500 ล้านบาท  ส่วนใหญ่ธุรกิจขนาดใหญ่เปลี่ยนจากการระดมทุนตราสารหนี้มาใช้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ส่งให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่สูงเป็น 13%  ขณะที่สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินน้อยกว่า 500ล้านบาท หรือสินเชื่อธุรกิจขนาดกลาง ขยายตัวลดลง -2.8% ถ้าหักตัวเลขซอฟต์โลนติดลบราว 5.9% ดังนั้น ซอฟต์โลนจึงเป็นมาตรการช่วยสินเชื่อเอสเอ็มอีไม่หดตัวเท่ากับอัตราปกติ

ส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคปี2563 ขยายตัว 4.6% จากที่เคยขยายตัว 9.4% และลดลงมาที่ 7.5%ในปี 2562 เพิ่มขึ้นในอัตราลดลง สอดคล้องกับกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่หดตัวหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด  หากพิจารณาทั้ง 4 กลุ่มในสินเชื่ออุปโภคบริโภค ได้แก่  สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขยายตัว 5.9%ซึ่งมาจากแนวราบ บวกกับผู้ประกอบการอัดแคมเปญในไตรมาส2 และ 3

ขณะที่ สินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว-2.1%  สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว%ในอัตราชะลอลง แม้ไตรมาส 2 และ 3 เริ่มดีขึ้นเนื่องจากมีงานมอเตอร์โชว์แต่หลังจากนั้นยอดขายรถยนต์หดตัว
              ด้านคุณภาพสินเชื่อหรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เล็กน้อย โดยลูกหนี้ได้รับผลกระทบจากโควิดยังได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์  ส่งให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 523.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 3.12% จากเดิมอยู่ที่ 2.98%  แต่สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวมหรือ Stage2 (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ stage 2) เพิ่มขึ้นสองเท่าจาก 2.79%มาอยู่ที่ 6.62%

“สินเชื่อStage 2 เพิ่มขึ้น 2เท่า ซึ่งเราต้องติดตามต่อเนื่องให้แบงก์พาณิชย์พยายามช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ต่อไป และจับตาดูว่า หากแบงก์ให้ความช่วยเหลือต่อจะไม่มูฟเป็นเอ็นพีแอลโดยกลับมาเป็นสินเชื่อปกติได้”

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

อย่างไรก็ตาม คุณภาพหนี้เอ็นพีแอลนั้น สินเชื่อธุรกิจแนวโน้มเอ็นพีแอลสูงสูงขึ้นจากประมาณ 3.01% ขึ้นมาที่ 3.23% เอ็นพีแอลสินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงสุดในไตรมาส1ปี2563 เพราะยังไม่มีมาตรการช่วยลูกหนี้ แต่หลังจาก ธปท. มีมาตรการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า เอ็นพีแอลกลุ่มนี้ลดลงมาอยู่ที่ 2.84% สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีวงเงินน้อยกว่า 500ล้านบาท มีสัดส่วนเอ็นพีแอล  6.84%ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทางการเป็นห่วงมากที่สุด ส่วนเอ็นพีแอลกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มเล็ก2.58% เป็น 2.08%     

“คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอการเติบโตของเอ็นพีแอลในอัตราลดลงเล็กน้อยในทุกพอร์ตสินเชื่อ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการบริหารจัดการหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้  ช่วยเหลือลูกหนี้ที่เข้ามาตรการ ชะลอการชำระหนี้หรือชะลอการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น  ทั้งนี้ ไตรมาส1-2 สินเชื่ออุปโภคบริโภคได้รับผลกระทบ แต่ผลกระทบทุกเซ็กเตอร์จะปรับลดลงในไตรมาส 3 และ 4

สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานปี 2563 ลดลง18.8% จากปี2562 มาอยู่ที่ประมาณ 4.06 แสนล้านบาท จาก 5 แสนล้านบาท  แต่หากตัดรายการกำไรพิเศษของธนาคารพาณิชย์บางแห่งผลกำไรจากการดำเนินงานลดลง -3.7%จากปี2562 ส่วนค่าใช้จ่ายกันสำรองฯ เพิ่มขึ้น 41.8%จำนวน 2.31แสนล้านบาท จาก 1.63แสนล้านบาทในปี2562 ส่งผลให้กำไรสุทธิปรับลด 46.%จาก 2.71แสนล้านบาทเหลือ 1.46แสนล้านบาท หรือหากตัดรายการพิเศษกำไรสุทธิลดลง 33.5% หรือหายไปประมาณ 1ใน 3

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Assets: ROA) ลดลงมาอยู่ที่  0.65% จากปีก่อนที่ 1.39% และอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ลดลงมาอยู่ที่ 2.51% จากปีก่อนที่ 2.73%
              ส่วนความคืบหน้าการแก้ไขพระราชกระหนด (พ.ร.ก.) ซอฟต์โลน ปัจจุบันธปท.อยู่ระหว่างพูดคุยและกำลังหารือกับกระทรวงการคลังในการแก้ไขซอฟต์โลนอยู่ เช่นเดียวกับการทำ Asset Warehousing คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเร็วๆ นี้ 

“ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,994.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) ที่ 20.1%  เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 799.1 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL coverage ratio) อยู่ที่ 149.2% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio: LCR) อยู่ที่ 179.6%”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :