จิรายุถล่ม ‘ศักดิ์สยาม’ซ่อนกล ล้มประมูลรถไฟสายสีส้ม

19 ก.พ. 2564 | 01:00 น.

“จิรายุ” เปิด “ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” จัดหนัก “ศักดิ์สยาม” ซ่อนกล ตั้ง 8 อรหันต์ รื้อเงื่อนไขประกวดราคาล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้าน “ศักดิ์สยาม” ถามกลับเอื้อประโยชน์ให้ใคร ยังไม่เปิดซองประมูล

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 ก.พ.2563 ในวันที่ 3 ของการอภิปราย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ได้อภิปราย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท 

โดยโจมตี นายศักดิ์สยาม บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายที่เกิดกับประเทศชาติและประชาชน เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาด เพื่อให้มีสิทธิดำเนินงานในกิจการของรัฐ โดยไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ ทุจริตต่อหน้าที่และปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในหน่วยงานที่กำกับดูแล สมคบกันเพื่อปิดบังการทุจริต เรื่องนี้ต้องถึงป.ป.ช. และหน่วยงานอื่นต่อไป เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้ ครม. ไม่ว่าจะมายุคไหน มาจากคสช.หรือมาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

นายจิรายุ กล่าวว่า การประมูลโครงการดังกล่าวมีการดำเนินการตามพรบ.ร่วมทุนฯ โดยมีการตั้งคณะกรรมการ 8 อรหันต์ ตามมาตรา 36 ส่วนใหญ่เป็นคนในกระทรวงคมนาคม และมีอำนาจสามารถแก้ไข้เปลี่ยน แปลงการประกวดราคาได้  

 

จิรายุ ห่วงทรัพย์

 

โดยมีการจัด “ปฏิบัติการ 16 วันทันใจนาย” พร้อมใช้ทฤษฎีสมคบคิด แบ่งงานกันทำมีเจตนาพิเศษ โดยวันที่ 7 ส.ค. บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเปิดประมูลว่าทำไม่ได้ ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 2563 จึงมีการแก้ไขเงื่อนไขการเปิดประมูล และได้เชิญนายภคพงษ์ ศิริกันธรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.มาร่วมประชุมด้วย ซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการตามมาตรา 36 และจากนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคาสายสีส้มในเวลาต่อมา 

จากบันทึกการประชุมในวันที่ 21 ส.ค.2563 มีเนื้อหาว่า คณะกรรมการบางคน มีการทักว่าทำได้หรือไม่ และจะเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำ และมีคณะกรรมการบางคนท้วงติงว่า เมื่อแก้ไขการประกวดราคา และเปิดประมูลไปแล้วจะขัดกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้ว่าฯ รฟม. บอกว่าเราสงวนสิทธิ์ไปแล้วว่าเปลี่ยนแปลงได้ และการแก้ไขแล้วจะเป็นประโยชน์กับ ภาครัฐและเอกชน 

แต่ไฮไลต์สำคัญคือ ตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา เป็นตัวแปรสำคัญของเรื่องนี้ ตอบว่าเปลี่ยนเงื่อนไขการประกวดราคาได้ กระทั่งที่ประชุมมีมติแก้ไขเงื่อนไขการประมูล เว้นแต่ผู้แทนจากสำนักงบประมาณเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย จึงอยากถามว่าทำไมผู้ว่าฯ รฟม. พึ่งมาคิดเปลี่ยนแปลง มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ 

 

ต่อมามี บีทีเอส เอกชนที่ซื้อซองประมูลไปแล้ว ได้ฟ้องศาลปกครอง ต่อมาคณะกรรมการทั้ง 8 คน ก็ล้มประมูล โดยไม่รอการตัดสินของศาล ขอบอกว่า คณะกรรมการฯ ได้ใช้เทคนิคทางการกฎหมายขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิก ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน และตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษา ที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคา ได้ลาออกจากบริษัทที่ปรึกษาในโครงการสีส้ม กระทั่งต่อมาในวันที่ 1 ต.ค.ได้เป็นรองก.ก.ผจญ.ทอท. คุมสายงานวิศกรรมการก่อสร้าง 

“บอร์ดทอท.ตั้งเป็นวาระลับ ถือเป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะโครงการสีส้มเป็นโครงการใหญ่แล้วทำกันอย่างนี้หรือ นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุน เพราะเปิดประมูลไม่ตรงไปตรงมา แบ่งงานกันทำ และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง โดยไม่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนใช่หรือไม่ และอยากเตือนเอาไว้ว่า ก่อนหน้านี้ศาลก็ได้ตัดสินจำคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าฯ รฟท.คดีแอร์พอร์ตลิงค์เอาไว้เป็นอุทาหรณ์ จึงเป็นเหตุให้ผมไม่ไว้วางใจนายกฯ และรมว.คมนาคม” นายจิรายุ ระบุ

 

“ศักดิ์สยาม”ถามเอื้อใคร

ด้าน นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า กรณีคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 มี การปรับเกณฑ์การพิจารรณาคัดเลือกให้เปิดซองเทคนิคและผลประโยชน์รวมกัน เนื่องจากนำผลกระทบในโครงการที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์พิจาณา และรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีการเชื่อมพื้นที่เมืองเก่า เทคนิคการก่อสร้างจึงมีความสำคัญในการพิจารณาประเมินข้อเสนอ

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

 

การที่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีความเห็นว่า การยกเลิกประกาศเชิญชวนและคัดเลือกเอกชน และเริ่มคัดเลือกครั้งใหม่จะเป็นแนวทางที่สามารถกำหนดกรอบเวลาแล้วเสร็จให้ชัดเจนและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ โดยระยะเวลาในการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ใช้เวลาอีกแค่ 6 เดือน ก่อนที่จะนำไปสู่การคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับผู้ได้รับการคัดเลือก จะทำให้การ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันออก เปิดเดินรถ ต.ค. 67 และฝั่งตะวันตก เปิดเดินรถ เม.ย. 2570 ตามกำหนด

ส่วนเรื่องเอื้อประโยชน์กันนั้น นายศักดิ์สยาม ได้ตั้งคำถามในที่ประชุมว่า ตนเองเอื้อประโยชน์ให้กับใคร และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ และทำผิดกฎหมายตรงไหน ซึ่งโครงการนี้ยังไม่มีการตัดสินว่าใครชนะการประกวดราคา ยังไม่มีการเปิดซองประมูล ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมดำเนินการตามกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่ และนายกรัฐมนตรีสั่งการเรื่องนี้มาตลอด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,655 หน้า 12 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ 2564