จับตา‘คมนาคม’  รื้อโปรเจ็กต์แสนล.

11 ก.พ. 2564 | 20:00 น.

คมนาคมรื้อ-ล้ม เมกะโปรเจ็กต์แสนล้าน จับตาด่วนพระราม 3 สัญญา 1 กับ 3 ส่อซํ้ารอยสายสีส้ม ดันสร้างเทอมินัลตัดแปะ ไม่สนเสียงค้าน ปิดท้ายประมูลที่ดินแปลง A ของรฟท. เอกชนเมินเหตุอยากได้ยกผืน

การเข้ามานั่งเก้าอี้ตัวใหญ่ในกระทรวงคมนาคม ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เกิดปรากฏการณ์เปลี่ยนแปลง วิธีการ การลงทุนเมกะโปรเจ็กต์หลายโครงการ แบบแปลกแปร่งเห็นได้จากการ ยกเลิกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท แบบค้านสายตา ทั้งที่คดียังคาอยู่ในศาลปกครอง ขณะโครงการที่มีโอกาส ยํ่ารอยรถไฟฟ้าเส้นนี้ มองว่ามีอีกหลายโครงการ ที่น่าจับตา

เริ่มจาก โครงการก่อสร้างทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร มูลค่า 3.1 หมื่นล้านบาท แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ตอน ขณะนี้ สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ถูกล้มประมูลตั้งแต่กลางปี 2562 ปัจจุบัน ยังไม่สามารถ เปิดประมูลใหม่ ได้ แวดวงผู้รับเหมาเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุใหญ่ สองสัญญา มีความล่าช้า เพราะติดปัญหารื้อหลักเกณฑ์ทีโออาร์ใหม่ มองว่าครั้งนี้ ผู้รับเหมารายใหญ่น่าจะคว้าชัย หรือไม่ก็ผู้มีอำนาจทางการเมือง

สำหรับโครงการทางด่วนพระราม 3 สัญญาที่ 1 ราคากลาง 6,980 ล้านบาท ประมูลได้ราคา 5,897 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 15.5% ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้า CNA ประกอบด้วยบริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ,บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWRในเวลาต่อมา ITD ยื่นคำร้องเรื่องคุณสมบัติผู้ประกวดราคาผลต้องยกเลิกสัญญารอประกวดราคาใหม่ เช่นเดียวกับ สัญญาที่ 3 ราคากลาง 6,991 ล้านบาท ประมูลได้ราคา 6,098 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 12.77%

ผู้ชนะการประกวดราคา คือ กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง-บริษัทบุญชัยพานิชย์ จำกัด แต่ติดปัญหา ITD และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQUE ร้องเรื่องผู้ประกวดราคาขาดคุณสมบัติด้านผลงาน จึงเป็นเหตุยกเลิกสัญญารอประกวดราคาใหม่ดังกล่าว โดยทั้ง 2 สัญญา อยู่ระหว่าง จัดทำราคากลางและเงื่อนไขการประกวดราคาใหม่ คาดจะสามารถเปิดประมูลได้ภายใน 2 เดือนนับจากนี้

ขณะสัญญาที่ 2 ราคากลาง 7,242 ล้านบาท ประมูลได้ราคา 6,440 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 11.07% ผู้ชนะการประกวดราคา กิจการร่วมค้า CTB ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปะนี ลิมิเต็ด บริษัท ทิพากร จำกัด, และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด เซ็นสัญญา เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 เช่นเดียวกับ สัญญาที่ 4 สะพานขึงยาว 2 กิโลเมตรราคากลาง 7,944 ล้านบาท ประมูลได้ราคา 6,636 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 16.5 % ผู้ชนะการประกวดราคา คือบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) เซ็นสัญญา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562

ประมูลใหม่มี.ค. 64

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าความคืบหน้าการประมูลทางด่วนพระราม 3 จะ เกิดขึ้นภายในเดือนมีนาคม 2564 สอดคล้องนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ (กทพ.) ระบุว่ากทพ. อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) สัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 3 ฉบับใหม่ เสนอไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดบางเรื่องที่นอกเหนือจากเงื่อนไขในประกาศของกรมบัญชีกลาง

“เรายอมว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวอาจมีความล่าช้าจากแผนเดิมที่วางไว้ แต่หลังจากการประมูลแล้วเสร็จ และได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว จะต้องเร่งรัดเอกชนให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง และเร่งรัดการทำงาน เพื่อผลักดันให้สามารถเปิดบริการได้ตามกำหนดภายในปี 2565”

ยันไม่ล็อกสเปก

รายงานข่าวจากกทพ. ระบุว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องดำเนินการพิจารณาประกาศประกวดราคาโครงการฯ เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนมีการยื่นอุทธรณ์ผลการประกวดราคาถึงคุณสมบัติและผลงานของผู้รับเหมาที่เสนอราคาต่ำสุด ขณะเดียวกันกทพ. ได้ทำเรื่องไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อขอเพิ่มรายละเอียดในส่วนของคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาประมูล โดยต้องเป็นบริษัทที่เคยมีผลงานการก่อสร้างงานติดตั้งชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Segment) มูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท

“ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการล็อกสเปกให้บริษัทใด แต่ที่ต้องกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวไว้ เพราะเป็นงานโครงสร้างที่เป็นชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีความยาวมากกว่า 30 เมตร บริษัทที่ชนะประมูลควรต้องมีประสบการณ์ด้านนี้ด้วย”


ส่องเค้กเมกะโปรเจ็กต์

ดังทุรังเทอร์มินัลตัดแปะ

ขณะความดันทุรังของกระทรวงคมนาคม ยังมีต่อเนื่องเมื่อผู้รับเหมา สะท้อนว่า ได้มีความพยายามผลักดันการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 (ตัดแปะ)หรือส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือในสนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่สนใจเสียงคัดค้าน ของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือ สภาพัฒน์ สอดคล้องกับนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้คัดค้านมาโดยตลอด

รื้อขุมทรัพย์รถไฟ

เช่นเดียวกับการปรับเปลี่ยน แผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ ใช้โมเดล ทอท. ซึ่งมีพื้นที่สัมปทานมีกำไรตั้งแต่ปีแรก รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า จากที่นายศักดิ์สยาม สั่งการให้ รฟท.ปรับแผนใหม่หลังจากแนวทางเดิม พบว่า ในช่วง 4 ปีแรก (64-67) ขาดทุนปีละเกือบ 300 ล้านบาท โดยให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เข้ามาช่วยศึกษาแนวทางการให้สัมปทานเอกชน โดยมุ่งสร้างรายได้จากค่าเช่า หรือส่วนแบ่งรายได้ ธุรกิจรีเทลค้าปลีก, ร้านอาหาร, โอทอป, พื้นที่โฆษณา และบริการที่จอดรถให้เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาความปลอดภัย และค่าซ่อมบำรุงสถานี ขณะที่ดินแปลง A 32 ไร่ เปิดประมูล 2 ครั้ง ปรากฏว่า เอกชนไม่สนใจ เนื่องจากที่ดินไม่เชื่อมต่อกัน ที่สำคัญเอกชนท้วงติงว่า ต้องการที่ดินทั้งผืน กว่า 1,000 ไร่ โดยไม่แบ่งซอย นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ระบุว่า ได้เปิดขายซองประมูลครั้งที่ 2 แต่ปัจจุบันไม่มีเอกชนรายใดให้ความสนใจเข้ามาซื้อซองประมูล ซึ่งรฟท.จะต้องปรับรูปแบบใหม่ตามข้อสั่งการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการพร้อมกันทุกแปลงโดยเริ่มนับหนึ่งทุกแปลงรอบสถานีกลางบางซื่อไปด้วยกัน 

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564