เกมใหม่ ‘ไทยเบฟ’  เคลื่อนทัพ “BeerCo”  พิชิตตลาดเอเชีย 

11 ก.พ. 2564 | 00:50 น.

จับตายุทธ-ศาสตร์ “ไทยเบฟ” Spin-off “BeerCo” ขุมทรัพย์แสนล้าน สยายปีกอาณาจักรเบียร์ครอบเอเชีย

หลังบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ไทยเบฟ (ThaiBev) ประกาศแยกธุรกิจเบียร์ ภายใต้ชื่อ “BeerCo” ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ทำหน้าที่ดูแลด้านการผลิต และจัดจำหน่ายเบียร์ให้กับกลุ่มไทยเบฟ เจ้าของเบียร์ช้าง อาชา และเฟเดอร์บรอยในประเทศไทย และบริษัท SABECO หรือ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation เจ้าของเบียร์ไซง่อน และ 333 ในประเทศเวียดนาม ซึ่งอยู่ในกลุ่มไทยเบฟเช่นกัน เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนเท่าใดนัก

เพราะ “ไทยเบฟ” เอง ส่งสัญญาณการระดมทุนครั้งนี้ตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งผู้บริหารไทยเบฟเอง ออกมายอมรับว่า มีการศึกษาจริง แต่เหตุผลหนึ่ง ณ ขณะนั้น คือ “เวลายังไม่เหมาะสม” ขณะที่ไทยเบฟเอง ก็อยู่ระหว่างการปรับหลังบ้าน สลับปรับเปลี่ยนขุนพลแต่ละองค์กรที่ถือเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่ในรอบ 10 ปี ด้วยการดึงมืออาชีพเข้ามาเสริมทัพ

“ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และยังเป็นผู้บริหารสูงสุด ดูแลกลุ่มธุรกิจเบียร์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำถึงโรดแมปของไทยเบฟ ภายใต้ PASSION 2025 ว่า เป้าหมายของไทยเบฟ คือการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มระดับโลก

ภาพรวมบริษัทเครื่องดื่มในเอเชีย

ซึ่งเส้นทางนี้ไม่ไกล หลังจากที่ใช้เวลา 4 ปีเศษ พิชิตเบอร์ 1 ในตลาดอาเซียน

เป้าหมายถัดไปคือ “เบอร์ 1 ในเอเชีย” ในระยะเวลา 5 ปี

“ฐาปน” ย้ำด้วยว่า ไทยเบฟ ไม่ได้มองธุรกิจแค่ 5 ปี 10 ปี แต่มองไปข้างหน้าถึง 20 ปี 30 ปี การวางแผนธุรกิจจะขับเคลื่อนสิ่งใดนั้น จึงมุ่งเน้นความยั่งยืน

สำหรับตลาดในเอเชีย วันนี้ “ไทยเบฟ” ถือเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงด้านการเงิน หากไม่นับรวมจีน ไทยเบฟ อยู่ในอันดับ 8 ของบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำในเอเซีย แม้ในปี 2563 จะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ตลอดทั้งปี และไม่ใช่เฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งเอเชีย ทำให้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มรายใหญ่ ต่างมีการเติบโตลดลง โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงไทยเบฟด้วย สวนทางกับกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น Yili Group บริษัทเครื่องดื่มนมรายใหญ่ในจีน ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด

 

ขณะที่ “ไทยเบฟ” ยังติดอันดับ 1 ใน 10 บริษัทเครื่องดื่มที่มีมาร์เก็ต แคป สูงสุดในเอเชีย โดยมีมาร์เก็ต แคป 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3.75 แสนล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นว่า ไทยเบฟ ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะการผนึกซินเนอร์ยี กับบริษัทในเครือในการขยายการลงทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำตลาดร่วมกัน ซึ่งจะเริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นนับจากปี 2564 เป็นต้นไป

และการนำ “BeerCo” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการนำ “ไทยเบฟ” ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในเอเชีย

ฐาปน สิริวัฒนภักดี

โดยผลประกอบการล่าสุดของ BeerCo ซึ่งมีทรัพย์สินประกอบด้วยโรงกลั่นในไทย และเวียดนามรวม 26 แห่ง ในปี 2563 พบว่า มีรายได้รวม 4.7 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1.03 แสนล้านบาท มีกำไรหลังหักภาษี 348 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 7,656 ล้านบาท

การเสนอขายหุ้น BeerCo ซึ่งเป็นผู้เล่นเบียร์ชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยศักยภาพที่มีทำให้เชื่อว่า จะดึงดูดนักลงทุนได้ไม่ยาก เพราะหลังจากการ การ Spin-off ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนรายใหม่จะมีความยืดหยุ่นในการลงทุนในหุ้นของ ThaiBev และ BeerCo อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง ตามความต้องการ ทำให้มีนักลงทุนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนในกลุ่มไทยเบฟมากขึ้น

หลังการทุ่มงบกว่า 1.5 แสนล้านบาทเข้าซื้อกิจการ SABECO ในเวียดนาม ทำให้ไทยเบฟก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% ในตลาดเบียร์เวียดนามมูลค่ากว่า 2.1 แสนล้านบาท รวมถึงการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานเบียร์ช้าง ในประเทศเมียนมา เป้าหมายต่อไปของไทยเบฟ ถือการสร้างอาณาจักรให้ครอบคลุมทุกประเทศ โดยเฉพาะ “ฟิลิปปินส์” อีกตลาดที่มุ่งหวัง

วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “BeerCo” คือพลังสำคัญ ในการขับเคลื่อน การระดมทุนครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศถึงความพร้อมและศักยภาพในการนำเงินก้อนโตมูลค่า 3 แสนล้านนี้ เข้ามาใช้เป็นกองหนุนสำคัญให้กับกลุ่มไทยเบฟและ TCC กรุ๊ป ต่อไป 

 

ที่มา: หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,652 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่าอาณาจักร “เบียร์” แสนล้าน “ไทยเบฟ” เจ้าสัวเจริญ

ตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ไฟเขียวแผน IPO ไทยเบฟ

ไทยเบฟ  แจงยังไม่ตัดสินใจ แยกธุรกิจเบียร์ เข้า IPO ตลาดหุ้นสิงคโปร์

ไทยเบฟ จ่อแยก “ธุรกิจเบียร์” เข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์ มูลค่า 3 แสนล้าน

ถอดรหัส ‘ไทยเบฟ’ ยืนหนึ่งผู้นำตลาดเครื่องดื่ม-อาหาร