จับตาโรงงาน-คลังสินค้า เปิดใหม่ 5 แสนตร.ม

09 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

คอลลิเออร์ส ฯ เผย โควิด เร่งความต้องการใช้คลังสินค้าและโรงงานเพิ่ม รับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ บูม 2.2 แสนล้าน คาดปี 64 มีพื้นที่รอเปิดใหม่อีก  5 แสน ตร.ม 

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า แม้ปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าบางส่วน จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่พบว่ารายใหญ่ ยังสามารถปล่อยเช่าคลังสินค้าและโรงงานได้มากกว่า 100,000 ตารางเมตร และมีอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจโลจิสติกส์ ตามการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการทำงานจากที่บ้าน (WFH) และธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าจีนยังคงสนใจขอเช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ซึ่งพื้นที่อีอีซียังคงมีอัตราการเช่าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มลูกค้าในภาคธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเภสัชกรรม เป็นต้น 

ภัทรชัย ทวีวงศ์

ทั้งนี้ ณ สิ้นครึ่งหลัง ปี 2563  อุปทานสะสมพื้นที่คลังสินค้าและโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการยังคงสูงที่สุด คิดเป็น 38% หรือ 2,691,6022 ตารางเมตร ตามมาด้วยในพื้นที่อีอีซี  คิดเป็น 32 % หรือ 2,255,517 ตร.ม. และยังคงพบว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงพยายามขยายธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าอย่างต่อเนื่อง 

ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี 2564 จะมีคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเปิดบริการใหม่อีกกว่า 500,000 ตร.ม. และส่วนใหญ่พัฒนาโดยผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดเช่น บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี หลังจาก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินและการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มีผลดีต่อกลุ่มธุรกิจ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนเนื่องจากเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทยที่น่าจับตามองในอนาคตอันใกล้

“ผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดยังคงให้ความสนใจพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าเพื่อรองรับลูกค้าในช่วงอีก 1-2 ปีข้างหน้าทั้งในพื้นที่ ถนนบางนา-ตราด และย่านเทพารักษ์ บนพื้นที่รวมกว่า 150 ไร่ สามารถพัฒนาได้ราว 150,000 ตารางเมตร และในพื้นที่อีอีซีอีกกว่า 300,000 ตารางเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีนี้”

ทั้งนี้ พบธุรกิจช้อปออนไลน์ในประเทศไทย ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4-5% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ มีการเติบโตสูงถึง 35% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท 

 

ที่มา : หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,651 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564