ขยายเวลาตรวจโรคตีวีซ่าให้คนต่างด้าวอีก 6 เดือน 

27 ม.ค. 2564 | 03:55 น.

อนุญาต"ต่างด้าวอยู่ต่ออีก 6 เดือน" มติครม.( 26 ม.ค.) เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตอยู่ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ระบาดต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ที่เป็นวงกว้างกระจายไปหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว จนทำให้การดำเนินการตามแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในหลายครั้งที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า ในขั้นตอนการตรวจสุขภาพและการต่อวีซ่าไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติดังกล่าว อยู่ในสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

 

รวมถึงกลุ่มผู้ต้องกักที่ดำเนินคดีเสร็จสิ้นและรอการส่งกลับ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากการปฏิเสธรับแรงงานกลับของประเทศต้นทาง ประกอบกับมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เนื่องจากให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัยต่อสุขอนามัยของประชาชนในประเทศไทยเป็นอันดับแรก ตามแนวทางการบริหารของรัฐบาล ภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งมั่นขจัดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในทุกมิติ รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพไปพร้อมกัน

 

คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน เสนอ เรื่องทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ และการบริหารจัดการผู้ต้องกัก ดังนี้ 

 

1. เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และการอนุญาตอยู่ให้อยู่ในราชอาณาจักร  เป็นกรณีพิเศษให้แก่

 

คนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562  มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563  และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ออกไปอีก 6 เดือน  โดยให้การขยายระยะเวลาดังกล่าวครอบคลุมไปถึงคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 2 ปี ด้วย
 

2. เห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ดังนี้
   

2.1 เห็นชอบขยายระยะเวลาการตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคยาเสพติดให้โทษ โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ออกไปถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2564 รวมแล้วเป็นระยะเวลา 6 เดือน และสำหรับการตรวจโรคโควิด - 19 ยังให้อยู่ในกรอบระยะเวลาเดิม คือ ต้องตรวจโรคโควิด - 19 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564
   

2.2 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังบัตรของคนต่างด้าวที่มีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และคนต่างด้าวซึ่งไม่มีนายจ้างที่ในเวลาต่อมามีนายจ้างออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
   

2.3 เห็นชอบให้มีการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคล (Biometric) โดยให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับการตรวจโรคโควิด – 19 เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ และส่งข้อมูลให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
   

2.4 เห็นชอบแนวทางการตรวจโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะให้สถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจโรคโควิด - 19 ให้กับคนต่างด้าวได้ สำหรับอัตราค่าใช้จ่าย
ที่สถานพยาบาลเรียกเก็บให้เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 
   

2.5 เห็นชอบให้คนต่างด้าวที่ดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดแล้วตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโรคโควิด - 19 หากได้รับการรักษาจนหายให้สามารถกลับเข้ามาขอรับอนุญาตทำงานได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้หายป่วยจากโรคโควิด – 19

 

3. เห็นชอบแนวทางการนำผู้ต้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สมัครใจจะทำงานออกมาทำงานกับนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีความประสงค์จะจ้างงาน 

 

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฯ ตามที่เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องบริหารจัดการ รวมทั้งสิ้น 2,335,671 คน ได้แก่

 

1. กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย
   

    1.1 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 มีจำนวน 1,162,443 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
   
    1.2 กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 4 สิงหาคม 2563 มีจำนวน 237,944 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

 

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MoU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย
   

    2.1 แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MoU ตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พฤศจิกายน 2563 มีจำนวน 119,094 คน 

    2.2 แรงงานต่างด้าวกลุ่ม MoU ที่วาระการจ้างงานครบ 2 ปีแรก 315,690 คน 

 

ทั้งสองกลุ่มอยู่ระหว่างตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa จึงขอขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพ และขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้ทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 

 

3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน คาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว และความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด – 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว เพื่อให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงานต่อไป

 

4.กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแจ้งไว้มีจำนวนประมาณ 500 คน

 

 

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด  สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10  หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit  หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

"โควิด-19" กระทบแรงงานต่างด้าว 2.3 ล้านคน ครม.สั่งทบทวนแนวทางบริการจัดการใหม่

ไม่ต้องหนี "ศบค." เปิดทางให้แรงงานต่างด้าว แจ้งขึ้นทะเบียนถึง 13 ก.พ.นี้

หวั่น‘ต่างด้าว’1.5ล้านคนลงใต้ดิน

แรงงานเถื่อนรีบโชว์ตัวด่วน "ลงทะเบียนแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลผ่านออนไลน์" ภายใน 30 วัน

แจงวิธีขึ้นทะเบียน"แรงงานต่างด้าว"ขออยู่ทำงานต่อ

 

 

 

เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ผ่อนผันต่างด้าว3 สัญชาติ หวังชะลอนำเข้าสกัดโควิด