ปภ.เร่งช่วยเหลือ 3 จังหวัดภาคใต้ ประสบอุทกภัย 19 อำเภอ

07 ม.ค. 2564 | 04:02 น.

ปภ.รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 3 จังหวัด สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวม 19 อำเภอ 98 ตำบล 482 หมู่บ้าน ประสานจังหวัดเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย

วันที่ 7 ม.ค.64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)รายงานฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลากน้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรงในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ยะลา และนราธิวาส รวม 19 อำเภอ 98 ตำบล 482 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,024 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

 

ปภ.เร่งช่วยเหลือ 3 จังหวัดภาคใต้ ประสบอุทกภัย 19 อำเภอ

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรงประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งสหพันธรัฐมาเลเซียทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และคลื่นลมแรง ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2564 - ปัจจุบัน (7 มกราคม 2564 เวลา 06.00 น.) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก 3 จังหวัด รวม 19 อำเภอ 98 ตำบล 482 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,024 ครัวเรือน ได้แก่ นราธิวาส เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่อำเภอศรีสาคร อำเภอบาเจาะ อำเภอระแงะ อำเภอสุไงปาดี อำเภอรือเสาะ อำเภอแว้งอำเภอสุคิริน อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอจะแนะ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอเมืองนราธิวาสรวม 56 ตำบล 318 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,680 ครัวเรือน

 

ยะลา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหา อำเภอกรงปีนังอำเภอเบตง อำเภอบันนังสตา อำเภอเมืองยะลา และอำเภอธารโต รวม 31 ตำบล 119 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 3,284 ครัวเรือน สงขลา เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี รวม 11 ตำบล 45 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 60 ครัวเรือน

ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยระดมเครื่องจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ และให้การดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดนอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่ และประเมินความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป