ปั้นคนตัวเล็ก ขึ้นแพลตฟอร์มไทย กรุงไทยดึงพันธมิตรบูมแอพ‘เป๋าตัง’

09 ม.ค. 2564 | 04:50 น.

กรุงไทยผนึกพันธมิตร ต่อยอดฐานผู้ใช้ “เป๋าตัง” 40 ล้านคน เฟ้น 20 สินค้าคุณภาพต้นแบบ ประเดิมขายบนแพลตฟอร์มไทยแลนด์ไตรมาสแรกปี 64 สร้างโอกาสคนตัวเล็ก เสิร์ฟนักช็อปออนไลน์

นอกจากความสะดวกสบายจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปหันมา ช็อปปิ้งออนไลน์ มากขึ้น การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย  ยิ่งเป็นแรงผลักให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี โดยจากการสำรวจของไพรซ์ซ่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 คาดการณ์มูลค่าตลาด อีคอมเมิร์ซไทยปี  2563 อาจมีมูลค่าสูงถึง 220,000 ล้านบาทเลยทีเดียว เติบโตขึ้นถึง 35% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท

 

ในงาน INTANIA DINNER TALK 2019-2020 ซึ่งจัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมปาฐกถาพิเศษในงานนี้ ซึ่งช่วงหนึ่งของงาน รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศไทย โดยมีนายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ยาก เพราะถูกยึดไปหมดแล้ว คนไทยใช้ช้อปปิ้ ใช้ลาซาด้า ถ้าทำเหมือนกัน จะไม่มีทางสู้ได้ ดังนั้นต้องคิดใหม่ทำใหม่ 

 

ผุดดิจิทัลคอมเมิร์ซ 

“หากเปรียบเทียบลาซาด้า ช้อปปี้ คือ อีคอมเมิร์ซ ยุคที่ 1 ที่มีการตั้งเว็ปพอร์ทอล เป็นการเผาเงิน เพื่อดูดคนซื้อเข้าไปที่เว็ปนั้นๆ ยุคที่ 2 คือ โซเซียลคอมเมิร์ซ ขายตาม IG FB เกิด influencer ขายของในช่องทางเหล่านี้ แต่สิ่งที่ประเทศ

 

ไทยจะทำคือยุคที่ 3 คือ ดิจิทัลคอมเมิร์ซ ใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เป็นการเอาสินค้าไปหาคน สร้างแรงขับเคลื่อนจากผู้บริโภค(consumer driven) ซึ่งแพลตฟอร์มต้องใหญ่พอและประเทศไทยมีอยู่แล้ว โครงการของรัฐบาล”นายสมคิด กล่าว 

 

นายสมคิดกล่าวเพิ่มเติมกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แนวคิด “ดิจิทัลคอมเมิร์ซ” เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่ธนาคาร กรุงไทย มีคือ ฐานผู้ใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” บวกกับการดูแนวโน้มการสื่อสารที่ดีของ โซเซียลคอมเมิร์ซ และดูโครงสร้างพื้นฐานที่ดีของ อีคอมเมิร์ซ ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นที่มาของ “ดิจิทัลคอมเมิร์ซ” ซึ่งเป็นคำใหม่ที่ธนาคารนำมาใช้ เพราะเจตนาของการต่อยอดโครงการครั้งนี้ เพื่อช่วยคนไทย สินค้าไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตรายเล็กๆ ได้มีโอกาสค้าขายบนแพลตฟอร์มและมีรายได้ในอนาคต

 

สมคิด จิรานันตรัตน์

 

ดังนั้น ดิจิทัลคอมเมิร์ซ จึงเป็นความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งภาครัฐต้องการที่จะมีแพลตฟอร์มที่เลือกประโยชน์ทางการค้าสำหรับคนไทย โดยไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ซึ่งจะเห็นได้จากตอนนี้สินค้าของไทยที่ขึ้นไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ จะต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ ขณะเดียวกันสินค้าบางประเภท ก็มีค่าขนส่งที่สูงเกินกว่าราคาสินค้าด้วยซ้ำ

 

“การต่อยอดฐานผู้ใช้เป๋าตังครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนไทยนำสินค้าขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ที่สำคัญกรุงไทยจะประยุกต์ในรูปแบบของการเล่าเรื่องเป็น Story Telling ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าเป็นหลักการและเลือกสินค้านำร่องมา 20 ประเภทเป็นสินค้าต้นแบบ เราจะทดลองเล่าเรื่องส่วนจะเวิร์กหรือสามารถทำให้คนสนใจหรือไม่ก็กำลังพยายามช่วยกัน”


ฐานลูกค้าเป๋าตัง

คัด20สินค้าต้นแบบ

ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า แนวทางการการต่อยอดธุรกิจบน Ecosystem จากธุรกิจคู่ค้าของลูกค้านั้น ธนาคารมีแนวคิดที่จะต่อยอดฐานผู้ใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” โดยสิ่งที่กรุงไทยช่วยรัฐพัฒนาอยู่ จะเป็นรูปแบบ “ดิจิทัลคอมเมิร์ซ” โดยที่ผ่านมาทางทีมงานบริษัท อิฟินิธัส บาย กรุงไทย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคาร กรุงไทยได้ร่วมกับกระทรวงการคลังหารือกับทางรัฐบาล เพื่อต่อยอดฐานผู้ใช้“เป๋าตัง”ให้เป็นแพลตฟอร์มตั้งต้น เพื่อให้เกิดกลไกของ sharing economy

ผยง ศรีวณิช

ขณะเดียวกันกรุงไทยได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายฝ่าย โดยที่หารือเบื้องต้นแล้วคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ไปรษณีย์ไทย(ปณท.) และ บมจ.พีทีทีโออาร์ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน และหวังว่าในระยะยาว ตรงนี้จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าบ้าง

 

“อันหนึ่งที่ท่านรองนายกพูดถึง DATA ที่ได้จากโครงการ คนละครึ่ง ซึ่งท่านอยากให้กรุงไทย ทำเป็นแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ หรือ โซเซียลคอมเมิร์ซ และอยากให้ทดลองและทำให้เร็ว ดังนั้น เบื้องต้นกรุงไทยจะร่วมพันธมิตรคัดสินค้าคุณภาพ 20 สินค้าเป็นต้นแบบและนำร่องในไตรมาสแรกปีนี้ และเห็นว่า เทรนด์ อีคอมเมิร์ซ หรือ โซเซียลคอมเมิร์ซ กำลังกลายเป็น ดิจิทัลคอมเมิร์ซ”นายผยงกล่าว

 

อย่างไรก็ตามการสร้างหรือขยายแพลตฟอร์มนั้น จำเป็นต้องมีคุณภาพของเนื้อหาเข้ามาเชื่อมแพลตฟอร์มให้มีความคึกคักและสร้างความวางใจ (Trust )ฉะนั้น รัฐต้องสร้างกลไกตรงนี้ให้มีคนมาบอกเล่าเรื่องด้วยภาษาตลาดในวงกว้าง เพื่อสร้างความไว้วางใจในการนำเสนอสินค้า นั่นคือ สิ่งที่รัฐต้องพัฒนาเพื่อผู้ประกอบการ SME ได้รับแบ่งปันที่ยุติธรรม(Fair Share)

นำร่องข้าว-กาแฟ

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส กล่าวว่า ดิจิทัลคอมเมิร์ซ เป็นประเด็นที่ได้รือกับกรุงไทย แต่ยังไม่ตกผลึกในรายละเอียด โดยในหลักการเบื้องต้น ธ.ก.ส.จะนำสินค้าคุณภาพขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นเวอร์ชั่นใด ซึ่งแนวทางนี้เป็นการอำนวยความสะดวก เพื่อเปิดตลาดและช่องทางการขายสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมการหาตลาดและการพัฒนาแพ็กเกจ

ธนรัตน์ งามวลัยรัตน์

 

“ธ.ก.ส.จะเริ่มจากนำผลผลิตของเกษตรกรที่ตรงกับผู้บริโภคต้องการ เบื้องต้น น่าจะเป็น ข้าว กาแฟ แต่ในแง่ Payment Gateway นั้นกรุงไทยสามารถให้บริการด้านการชำระเงินที่ครอบคลุมทั้ง Application และบัตรเครดิตอยู่แล้ว” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ผยง ศรีวณิช” ผ่ายุทธศาสตร์ปฏิบัติการ ‘กรุงไทย’ 

กรุงไทย แจ้งปิดระบบแอปฯ เป๋าตัง

กรุงไทยดันดิจิทัลแพลตฟอร์มรับ New Normal ซื้อขายบอนด์ในอนาคต

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,642 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2564