สภาต้องไม่เอาตัวรอด ปิดประตูใส่หน้า‘ประชาชน’

06 ม.ค. 2564 | 04:23 น.

สภาต้องไม่เอาตัวรอด ปิดประตูใส่หน้า‘ประชาชน’ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3642 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค.2564 


เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมกับวิป 3 ฝ่ายและตัวแทนพรรคการเมือง เพื่อหารือข้อเสนอของประธานกรรมาธิการกิจการสภา ให้งดการประชุมสภาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับรัฐบาลออกมาตรการห้ามประชุมเพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ที่ประชุมมีมติให้งดการประชุมสภาออกไป 2 สัปดาห์ ด้วยเงื่อนไขความปลอดภัย หากมีการประชุมจะทำให้เกิดความหนาแน่นด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่และสมาชิกรวมกันหลายพันคน เมื่อครบกำหนดหากยังมีสถานการณ์แพร่ระบาดอยู่ค่อยหารือกันอีกครั้ง ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ ชุดต่างๆ ยังสามารถประชุมได้ แต่ให้ควบคุมไม่ให้นำคนนอกหรือที่ปรึกษาเข้ามาโดยมิชอบ

สถาบันรัฐสภาเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย มีสมาชิกรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร จำนวน 500 คน ที่ต่างเสนอตัวอาสาจนได้รับการเลือกตั้งผ่านการหย่อนบัตรลงคะแนนจากประชาชน และวุฒิสภาอีก 250 คน ที่เป็นตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิหลากสาขาอาชีพ มีทั้งที่เลือกกันเองเข้ามา และอีกส่วนจากการแต่งตั้งของคสช. ที่ล้วนเต็มใจและปฏิญาณตนว่าจะทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
 

อีกทั้งการเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวหาใช่ทำฟรี ส.ส.รับเงินเดือนและเงินเพิ่มคนละ 113,560 บาทต่อเดือน พร้อมสวัสดิการ อาทิ ค่าเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ทั้งในและต่างประเทศ ค่ารักษาพยาบาล มีสิทธิจ้างทีมงานได้ 8 คน อีกเดือนละ 129,000 บาท คือ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน 24,000 บาท ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน คนละ 15,000 บาทต่อเดือน และผู้ช่วยดำเนินงานอีก 5 คน เงินเดือนคนละ 15,000 บาทต่อเดือน โดยมีกำหนดให้ประชุมสภาปีละ 2 สมัยประชุม สมัยประชุมละ 120 วัน หรือ 4 เดือน รวมเป็นปีละ 8 เดือน

หน้าที่การเป็น “ผู้แทนปวงชน” เข้ามาทำหน้าที่ออกกฎหมาย และนำปัญหาของประชาชนมานำเสนอ อภิปราย แจ้งให้ฝ่ายบริหาร และกลไกบริหารราชการแผ่นดินรับไปดำเนินการแก้ไขปัดเป่าความทุกข์ให้ประชาชน ซึ่งเวทีการทำงานของผู้แทนราษฎรก็คือ “ที่ประชุมสภา” ทั้งยังเป็นการละทิ้งหน้าที่ในภาวะที่ประชาชนตื่นตระหนกตกอยู่ในห้วงทุกข์ จากภาวะการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังลุกลามไปกว่า 53 จังหวัดทั่วประเทศ

 

เราไม่เห็นด้วยกับมติสภาฯที่งดเว้นการประชุม ซึ่งเท่ากับสภาหลีกหนีการทำหน้าที่ของตนเอง เราเห็นว่าในภาวะที่ปัญหากำลังรุมเร้าสังคมไทยเช่นนี้ สมควรที่รัฐสภายิ่งต้องเปิด โดยเลื่อนวาระการประชุมที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนทั้งหมดออกไปก่อน และหยิบยกวาระความทุกข์ยากจากปัญหาเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาอภิปรายถกแถลง แสวงหาข้อเสนอแนะและแนวทางเพื่อเร่งปลดเปลื้องความทุกข์ยากของประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แสดงให้เห็นว่าสถาบันรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนและเป็นที่แก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง จึงจะเป็นการทำหน้าที่สมดังที่ได้ปฏิญาณตนไว้