“คมนาคม” จ่อหั่นงบปี 64 หนุนงบโควิด-19 ระลอกใหม่

04 ม.ค. 2564 | 09:27 น.

“คมนาคม” เตรียมปรับลดงบประมาณปี 2564 หวังช่วยรัฐสนับสนุนงบโควิด-19 รอบใหม่ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนโครงการปีเดียว หากจัดซื้อจัดจ้างไม่ทันในช่วงธ.ค.63 ที่ผ่านมา หวั่นใช้งบผูกพันแทน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เริ่มมีการระบาดมากขึ้นในหลายพื้นที่ นั้นอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณปี 2564 ในการเดินหน้าโครงการต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน  เบื้องต้นยังคงเดินหน้าได้ตามปกติ แต่คาดว่าจะมีการปรับลดงบประมาณในการลงทุนลงเช่นเดียวกับเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องใช้งบประมาณในการบริหารสถานการณ์ โดยปัจจุบันได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานต่างๆ ไปดูรายละเอียดโครงการลงทุน เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่ต้องมีการปรับลดงบประมาณปี 2564  โดยเฉพาะการปรับลดความจำเป็นในส่วนของเนื้องานลง อาทิ โครงการงบปีเดียวที่ดำเนินการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน อาจจะต้องเปลี่ยนมาใช้งบผูกพันแทน

“ขณะนี้เราได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมไปทำการบ้านก่อน แต่จะยังไม่มีการตัดงบประมาณลงแต่อย่างใด เนื่องจากตอนนี้ยังไม่ทราบว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีความต้องการใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ เพราะกรอบวงเงินกู้ในรอบแรกยังเหลือใช้อยู่ ซึ่งต้องรอคำสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนจึงจะมีการดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อลงนามสัญญาโครงการฯให้ทันภายในเดือนม.ค.2564 ส่วนโครงการงบผูกพันจะดำเนินการลงนามสัญญาภายในเดือนมี.ค.2564”

 

ส่วนในงบประมาณ ปี 2565 เชื่อว่าจะยังสามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ต่อไปได้ พร้อมมั่นใจว่า ครม. จะสามารถบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ได้เช่นกัน ซึ่งในวันที่ 4 มกราคม 2564 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ส่วนความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่ใกล้แตะ 60% ตนมองว่าไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการดำเนินการ หากมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อช่วยเหลือประชาชนและรักษาเสถียรภาพของประเทศรัฐบาลสามารถเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาได้

อย่างไรก็ตามในส่วนของการดูแลเรื่องการขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัด ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลตั้งแต่เรื่องการวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร และพนักงานที่ให้บริการ ซึ่งหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นจะมีการหยุดให้บริการรถขนส่งสาธารณะทันที เหมือนต้นปี 2563 ที่มีการประกาศล็อคดาวน์ประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องรอคำสั่งจากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อีกครั้งว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป