บินโดรนขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจอนาคตไกลในสหรัฐ

29 ธ.ค. 2563 | 08:01 น.

สหรัฐอนุมัติการบินโดรนขนาดเล็ก รวมทั้งการบินตอนกลางคืน ปูทางสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ คาดปี 64 ตลาดบินโดรนเพื่อการพาณิชย์ในสหรัฐโตถึง 10 เท่า

 

สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้อนุมัติให้ โดรนขนาดเล็ก สามารถบินเหนือฝูงชน และบินในตอนกลางคืนได้ ซึ่งความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญใน การนำโดรนมาใช้งานเพื่อจัดส่งสินค้าในเชิงพาณิชย์ อย่างกว้างขวาง

 

FAA ระบุว่า กฎเกณฑ์สำหรับการใช้งานโดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) ซึ่งรอการอนุมัติมาเป็นเวลานานนั้น จะช่วยแก้ปัญหาด้านความปลอดภัย ด้วยการกำหนดให้โดรนต้องมีเทคโนโลยีการระบุข้อมูลประจำเครื่องได้จากระยะไกล เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากภาคพื้นดิน 

บินโดรนขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจอนาคตไกลในสหรัฐ

ทั้งนี้ กฎดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 60 วันหลังจากเผยแพร่ในบันทึกราชการที่เรียกว่า Federal Register ในเดือนม.ค.ปีหน้า (2564) โดยผู้ผลิตโดรนจะมีเวลา 18 เดือน เพื่อเริ่มผลิตโดรนที่มี Remote ID หรือข้อมูลประจำเครื่อง ส่วนผู้ควบคุมโดรนจะมีเวลา 1 ปีในการแจ้งข้อมูล Remote ID ของโดรน

 

นายสตีฟ ดิกสัน ผู้บริหารของสำนักงาน FAA กล่าวว่า กฎเกณฑ์ใหม่ๆ นี้ ถือเป็นการเปิดทางให้มีการใช้งานโดรนได้มากขึ้นในอนาคต เพื่อแก้ไขปัญหาข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยและระบบรักษาความปลอดภัย  "กฎเหล่านี้ช่วยให้เราไปถึงจุดที่จะได้เห็นการใช้งานโดรนในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการส่งพัสดุได้มากขึ้น"

 

บินโดรนขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจอนาคตไกลในสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ การบังคับโดรนขนาดเล็กเหนือจุดที่มีคนอยู่ยังทำได้จำกัด โดยผู้บังคับโดรนต้องอยู่ในอาณาบริเวณที่ทำการบินโดยตรง และต้องอยู่ในสิ่งปลูกสร้างหรือในยานพาหนะที่จอดนิ่ง เว้นแต่ผู้บังคับโดรนจะได้รับการยกเว้นจาก FAA แล้ว

 

ในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทต่างแข่งขันกันสร้างฝูงบินโดรนเพื่อให้ขนส่งสินค้าได้เร็วขึ้น เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีโดรนที่ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.7 ล้านลำ และนักบินโดรนระยะไกลที่ผ่านการรับรองจาก FAA ก็มีจำนวนกว่า 203,000 คน

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า FAA เคยคาดหมายตัวเลขจำนวนโดรนที่ใช้งานอยู่ในสหรัฐฯจะขยายตัวแบบก้าวกระโดดในระยะ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2560-2564 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในปี 2559 รัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้ผ่านกฎหมายอนุญาตให้มีการบินโดรนระดับการบินต่ำเพื่อการศึกษา งานวิจัย และงานเชิงพาณิชย์ทั่ว ๆไป จากนั้นก็มีการขยายขอบเขตการอนุญาตนำโดรนขึ้นบินเพื่อใช้งานด้านการขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งหมายความว่าโดรนได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินไปในพื้นที่ที่อยู่ไกลเกินสายตาของผู้บังคับการบินโดรนลำนั้น

 

ทั้งนี้ FAA คาดหมายว่า จำนวนโดรนขนาดเล็กที่ใช้กันเพื่อการสันทนาการในสหรัฐจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.1 ล้านลำในปี 2559 เป็นกว่า 3.5 ล้านลำในปี 2564 ส่วนฝูงบินโดรนเพื่อการพาณิชย์นั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 42,000 ลำในช่วงปลายปี 2559 เป็นประมาณ 442,000 ลำในปี 2564 หรืออาจจะมากถึง 1.6 ล้านลำก็เป็นได้ ซึ่งจำนวนที่เติบโตจะมากหรือน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยแวดล้อมด้านกฎระเบียบที่ควบคุมอยู่จะคลี่คลายหรือพัฒนาการไปในทิศทางใด ซึ่งหากมีการผ่อนคลายกฎที่ควบคุมอยู่ การบินโดรนเพื่อสันทนาการประจำวันก็อาจแปรเปลี่ยนมาเป็นการบินโดรนในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น

 

FAA ยังคาดหมายเกี่ยวกับจำนวนนักบินโดรนที่มีใบอนุญาต ที่เคยมีจำนวนเพียง 20,000 รายในปี 2559 อาจเพิ่มขึ้น10-20 เท่าเป็นหลักหลายแสนรายในปีหน้า (2564) ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2560 เป็นต้นมา FAA ได้ให้การอนุมัติการขอบินโดรนขององค์กรธุรกิจในสหรัฐไปแล้วมากกว่า 300 ราย อาทิ บริษัทเดินรถไฟยูเนี่ยน แปซิฟิก เรลโร้ด บริษัทการรถไฟ บีเอ็นเอสเอฟ เรลเวย์ บริษัท อินเทล คอร์ป. บริษัท วอลท์ ดิสนีย์ ปาร์ค แอนด์ รีสอร์ท บริษัท เอชบีโอของไทม์ วอร์เนอร์ และบริษัท ซีเอ็นเอ็น เป็นต้น  

บินโดรนขนาดเล็กเพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจอนาคตไกลในสหรัฐ

ทั้งนี้ ทำเนียบขาวได้เคยเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ว่า การบินโดรนเพื่อการพาณิชย์จะช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้ คิดเป็นมูลค่า 82,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 หรือพ.ศ. 2568 และก่อให้เกิดงานใหม่จำนวนมากถึง 100,000 อัตรา ซึ่งนั่นเป็นการคาดการณ์ก่อนที่โลกจะรู้จักโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้บริการส่งอาหารและสินค้าจากการสั่งซื้อทางออนไลน์พุ่งสูงมากเป็นประวัติการณ์ และไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ในสหรัฐจะยุติลงแล้วและผู้คนสามารถออกจากบ้านได้มากขึ้นแล้วก็ตาม 

 

อนาคตของการนำโดรนขึ้นบินเพื่อการพาณิชย์จึงมีโอกาสขยายตัวอีกมากมายหลายเท่า ซึ่งนอกจากการขนส่งพัสดุหรือส่งสินค้าแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ในการใช้งานโดรนอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเกษตร งานวิจัยและการศึกษา งานตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าและท่อลำเลียงประปา งานสนับสนุนปฏิบัติการกู้ภัยฉุกเฉิน งานตรวจสอบสะพาน การถ่ายภาพทางอากาศ หรือการติดตามศึกษาภาวะนิเวศและสัตว์ป่า เป็นต้น