เปิด 9 สายรถเมล์ " แรงงานพม่า" นิยมใช้บริการเข้ากรุงเทพฯ

20 ธ.ค. 2563 | 02:19 น.

เปิด 9 สายรถเมล์ " แรงงานพม่า" สมุทรสาคร นิยมใช้บริการเข้ากรุงเทพฯ แนะเพิ่มความระมัดระวัง เมื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ป้องกันเชื้อโควิด-19

จากกรณี กระทรวงสาธารณสุข และผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสาคร แถลงข่าวช่วงค่ำวานนี้ (19 ธ.ค.) พบผู้ติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นเป็น 548 ราย จากการตรวจที่ตลาดกลางกุ้งรวมจำนวน 1,192 ราย โดยมากกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ และส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติชาวพม่า จนนำมาสู่การล็อกดาวน์ ขอความร่วมมือชาวสมุทรสาคร งดการเดินทางออกนอกจังหวัดโดยไม่จำเป็น 19 ธ.ค. 2563 - 3 ม.ค. 2564 จนสร้างความตระหนกให้กับประชาชนในประเทศ และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจังหวัดพื้นที่รอยต่อ มีการเดินทางเข้า-ออก ผ่านระบบขนส่งมวลชนร่วมกันหลายเส้นทาง 

 

ล่าสุด เพจ "รถเมล์ไทยแฟนคลับ Rotmaethai" ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอข่าวสารและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนในประเทศ โดยมีผู้ติดตามกว่า 1.5 แสนคน ได้โพสต์ข้อความลักษณะเป็นการแจ้งเตือน ว่า ปัจจุบันมีรถเมล์สองแถว ซึ่งมีต้นทางจากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร 
เข้ามายังกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 9 สาย โดยให้ผู้ใช้บริการดังกล่าว เพิ่มความระมัดระวัง อาจมีโอกาสสัมผัสร่วม เสี่ยงติดเชื้อได้ ตามใจความดังนี้ 


" เห็นข่าวโควิด-19 ที่สมุทรสาครคนติดมากมายตั้ง 548 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวต่างชาตินั้น

 

ยังมีสายรถเมล์ที่แรงงานต่างชาติขึ้นใช้บริการเป็นจำนวนมาก ที่มาจากฟากมหาชัยปากน้ำ เข้ามาในกรุงเทพ ที่ต้องเฝ้าระวัง รับมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ ดังนี้
 

สาย ปอ.7 สมุทรสาคร - หัวลำโพง
สาย 43 ศึกษานารี 2 - เทเวศร์
สาย ปอ.68 สมุทรสาคร - บางลำพู
สาย 105 มหาชัยเมืองใหม่ - คลองสาน
สาย 140 แสมดำ / มหาชัยเมืองใหม่ - อนุสาวรีย์ชัยฯ (ทางด่วน)
สาย 141 แสมดำ - จุฬาฯ (ทางด่วน)
สาย 142 ปากน้ำ - แสมดำ (ทางด่วน)
สาย 8183 สมุทรสาคร - ปิ่นทอง
สาย 8328 สมุทรสาคร - เคหะธนบุรี " 

 

เพจดังกล่าว ยังขอให้ ผู้ใช้บริการ ดูแลป้องกันตัวเองอย่างถูกวิธี สวมหน้ากากอนามัย พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หากมีอาการไม่สบาย ไข้สูง หายใจลำบาก รีบไปพบแพทย์ โดยเร็ว

 

ทั้งนี้ วิธีใช้บริการ "ขนส่งสาธารณะ" ให้ปลอดภัย ในยุค "โควิด-19" มีวิธีปฎิบัติง่าย ดังนี้ 

 

- หากไม่สามารถล้างมือด้วยน้ำหรือสบู่ได้ทันที ควรพกเจลทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และควรใช้บ่อยครั้งเมื่อสัมผัสอุปกรณ์ในที่ส่วนรวม เพราะเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถอาศัยอยู่บนพื้นผิวพลาสติกและเหล็กได้นานถึง 72 ชั่วโมง การพกเจลทำความสะอาดมือเป็นสิ่งหนึ่งที่ง่ายและทุกคนสามารถทำได้เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

 

- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ CDC แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยเฉพาะ ดวงตา จมูก และ ปาก หรือสัมผัสใบหน้าไม่ว่าจะกำลังโดยสารรถสาธารณะอยู่หรือไม่ก็ตาม

 

- ในขณะที่อยู่บนรถเมล์ หรือรถไฟที่มีผู้คนพลุกพล่านและไม่สามารถย้ายไปบริเวณอื่นได้ หากมีใครกำลังไอหรือจามให้พยายามออกห่างและรีบหันหน้าไปทางอื่นทันที

 

- ลดการจับเสาและราวตามรถขนส่งสาธารณะ หากไม่สามารถทำได้ ควรใช้เจล หรือ สเปรย์แอลกอฮอล์ล้างทำความสะอาดมือทันทีหลังจากออกจากระบบขนส่งสาธารณะ และควรจำไว้ว่าอย่าสัมผัส จมูก ตา และปาก หากใช้กระดาษทิชชูจับราวก็ควรทิ้งลงในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด

 

-ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ในขณะที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะสัมผัสถูกใบหน้าของตนเอง

 

- ในขณะที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะควรสัมผัสโทรศัพท์มือถือให้น้อยที่สุด แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ยาก แต่ก็ควรที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเตือนตัวเอง โดยลดการสัมผัสโทรศัพท์มือถือ เช่น เปลี่ยนที่พกโทรศัพท์ ตอนแรกอาจพกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋ากางเกงเป็นประจำ ให้เปลี่ยนมาใส่ไว้ในกระเป๋าแทน และควร ใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์(isopropyl alcohol) คือแอลกอฮอล์ที่ใช้ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค จากนั้นหยดลงบนผ้าสะอาดหรือสำลีเช็ดเฉพาะด้านนอกตัวเครื่อง หลังจากสัมผัสโทรศัพท์

 

- หากต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่ออยู่ในบริเวณสนามบินและบนเครื่องบิน ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) อย่างเคร่งครัด โดย

 

- การโดยสารรถไฟ รถไฟฟ้า ให้พยายามหลีกเลี่ยงช่วงเวลาแออัด หรือควรเลือกเส้นทางที่มีประชาชนไม่หนาแน่นมาก โดยควรเว้นระยะห่าง 2 เมตรเมื่อทำได้ และรอให้ผู้โดยสารภายในขบวนออกจนหมดก่อนที่จะขึ้นไป

 

- กรณีโดยสารรถแท็กซี่ควรนั่งตอนหลังของรถเท่านั้น เพื่อเว้นระยะห่างระหว่างผู้ขับรถและผู้โดยสาร ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดต่อของเชื้อไวรัส และควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะโดยสารบนรถ

 

- การโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง งดพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างโดยสาร ควรนั่งข้างแทนการนั่งคร่อมเบาะโดยสาร ทั้งพยายามพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดตัวตลอดเวลา และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

 

- เมื่อพบอ่างล้างมือและสบู่ พยายามล้างมือให้สะอาดทันที โดย ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาทีหลังจากออกจากระบบขนส่งสาธารณะ และควรใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์เพื่อป้องกันไม่ให้มือแห้งจากการล้างมือบ่อยๆ

 

- ในระหว่างการเดินทางไม่ว่าจะเป็นบน รถไฟฟ้า รถเมล์ หรือรถไฟใต้ดิน หากกำลังถือกระเป๋า หรือ ด้านล่างของกระเป๋าอยู่บนพื้นตลอดเวลา ให้ทำความสะอาดโดยใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ


ข้อมูล : รพ.สมิติเวช