"กระทรวงพลังงาน" เล็งคลอดแผนพลังงานชาติเมษายน 64 รับ "EV"

14 ธ.ค. 2563 | 10:10 น.

"กระทรวงพลังงาน" เล็งคลอดแผนพลังงานรชาติเมษายน 64 รับ "EV" ด้านเอกชนแนะตั้งกองทุนฯ 2 ล้านล้านบาท

นายกุลิศ  สมบัติศิริ  ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า  ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพลังงานชาติ หรือแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TIEB) ที่มีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายในระยะสั้น ระยะปานกลาง 5-10 ปี มากกว่าการวางแผนในระยะยาว 20 ปี รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิตอล และการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโควิด-19 (Covid-19) ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง น่าจะได้ข้อสรุปกลับมารายงานอีกครั้งใน 3 เดือนข้างหน้า และคาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.2564 ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติต่อไป

“การจัดทำแผนดังกล่าวตะเป็นระดมสมองของคนรุ่นใหม่จากกระทรวงพลังงานรทั้ง 4 กรม  และจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 63 ที่มอบให้กระทรวงพลังงานจัดทำแผนพลังงานที่มี 5 แผนรวมเป็นแผนเดียวเพื่อให้เป็นเอกภาพและรองรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากผลกระทบโควิด-19 และให้มีเป้าหมายระยะสั้น กลางและยาวเพื่อให้แผนแต่ละช่วงมีความยืดหยุ่นปรับได้และรองรับยุคดิจิทัล ทั้งด้านภาวะโลกร้อน และพลังงานสะอาดที่จะเปลี่ยนไป”

 สำหรับแผนดังกล่าวจะต้องนำไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ซึ่งไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเป็นปีใด  หลังจากสหรัฐฯ และยุโรปกำหนดไว้ปี 2593 จีนปี 2603 เป็นต้น ขณะเดียวกัน แผนที่จัดทำจะต้องสอดรับกับนโยบายของอาเซียนที่ได้กำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 35% ในปี 2573 โดยเทรนด์ของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “อีวี” (EV) และพลังงานหมุนเวียน (RE) มาแน่นอน รวมถึงเทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจภาคพลังงาน ดังนั้น การจัดทำแผนจะทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงกลั่น เชื้อเพลิงชีวภาพ ก๊าซฯ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรด้วย

"กระทรวงพลังงาน" เล็งคลอดแผนพลังงานชาติเมษายน 64 รับ "EV"

“เดือนมีนาคมจะมีการจัดงานสัมมนาใหญ่เพื่อรับฟังคงวามคิดเห็นต่อแผนที่ได้มีการบูรณาการออกมา  โดยถือเป็นมิติใหม่ของการทำแผนในการรวมกัน  ก่อนที่จะเดินหน้าไป  เราจะต้องมีการกำหนดกรอบ  ทิศทางก่อนว่าทิศทางของพลังงานโลกเป็นอย่างไร  ทิศทางของเศรษฐกิจ  ทิศทางของโควิด-19 จะเอามาปรับอย่างไรในการทำแผน  วันนี้เป็นการนับหนึ่งของการทำแผน  นำผู้ที่มีความรู้มาเป็นวิทยากร  ทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม แผนพลังงานฯ ที่จะจัดทำใหม่ดังกล่าวจะไม่มีการพิจารณาเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจากที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด และขณะเดียวกันจะมีการพิจารณปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งจะมีส่วนการลดสำรองไฟฟ้าที่มีสูงขึ้นถึง 30-40% โดยการสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 หากพิจารณาที่อนาคตจะมีรถอีวี รถไฟฟ้า 13 สาย การเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ก็จะส่งผลให้การใช้ไฟสูงขึ้นได้ สำรองนี้อาจไม่เป็นปัญหาก็ได้ในระยะต่อไป ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากก็ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ก่อน 

                "ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าไหร่ ทั้งโรงไฟฟ้าเก่าและโรงไฟฟ้าใหม่  มีกำลังการผลิตอยู่ที่เท่าใด เปิดใช้งานมาแล้วกี่ปี มีประสิทธิภาพในการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าจะต้องปลดระวางกี่แห่ง รวมถึงโรงไฟฟ้าอื่นด้วย​ ส่วนการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าใหม่น่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี​ 2564 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายชัดเจน  ถือเป็นการคิกออฟเพื่อแจกโจทย์ว่าพลังงานควรจะมีทิศทางอย่างไร”

                นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนพลังงานสร้างชาติ 2 ล้านล้านบาท  โดยเงินจำนวนดังกล่าวมาจากการคำนวณปริมาณการใช้น้ำมันของประเทศไทยในปัจจุบัน  ซึ่งชนิดดีเซลอยู่ที่ประมาณ 55-60 ล้านลิตรต่อวัน เบนซินอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านลิตรต่อวัน  หากเปลี่ยนมาใช้ EV เต็มระบบ  ก็จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ หากทำ 30 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% จากการออกพันธบัตรรัฐบาลก็จะได้จำนวนเงินดังกล่าว  เพราะเป็นแนวทางที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี  จากวงเงิน 2 ล้านล้านบาทคาดว่าจะใช้ประมาณ 2 แสนล้านบาท  เพื่อขับเคลื่อน  หรือเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ อีวี  ส่วนอีก 1.8 แสนล้านบาทจะถูกนำไปใช้ในหลากหลายด้าน เช่น 1.การเยียวยาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  2.นำไปทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ต้องการการสร้างสถานีชาร์จประมาณ 2,000 สถานี  หากทำได้ดีจะใช้เงินไม่มากประมาณหลักหมื่นล้านบาท  และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น การสร้างความต้องการใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ   

                “โรงกลั่นฯ ก็ต้องปรับตัวไปสู่ปิโตรเคมีขั้นสูง เอทานอล และไบโอดีเซล จะได้รับผลกระทบจะเร็วหรือช้าก็ตาม ดังนั้นก็ต้องปรับไปสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพ อาทิ Oleochemicals ขณะที่พืชพลังงานก็เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก”