ปรองดอง สมานฉันท์ อลวน-อลเวง

11 ธ.ค. 2563 | 06:00 น.

ปรองดอง สมานฉันท์ อลวน-อลเวง : คอลัมน์คันฉ่องส่องการเมือง ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3635 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค.2563 โดย... นาย NO VOTE

 

+++ เงียบไปพักใหญ่กับการตั้ง “คณะกรรมการสมานฉันท์” เพื่อนำไปสู่การสร้างความปรองดองทางการเมือง ล่าสุด ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ออกมาตอบคำถามที่ว่า “ฝ่ายค้าน” และ “กลุ่มผู้ชุมนุม” ไม่เข้ามาร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ อย่างนี้การทำงานจะเดินหน้าได้หรือไม่ หรือต้องกำหนดกรอบใหม่ นายชวน ตอบว่า โครงสร้างของคณะกรรมการฯ คงไม่เปลี่ยน และเดิมฝ่ายค้านก็แสดงความจำนงในลักษณะไม่มาร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งตนเป็นคนเจรจาว่าอยากให้มาร่วม ตอนนั้นแนวโน้มก็จะมาร่วม แต่เขาก็ขอดูท่าทีก่อน
 

+++ แต่เมื่อหลังจากฟังผู้นำฝ่ายค้านพูดเหมือนกับว่าโครงสร้างแต่ละฝ่ายไม่สมดุล อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดไม่ใช่การลงมติ แต่เป็นการระดมสมอง ความคิด และความร่วมมือของแต่ละฝ่าย ดังนั้น จึงไม่ใช่ว่าไปลงมติแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบ โดยจะเสนอแนวคิดนี้อีกครั้ง แต่คณะกรรมการฯ มีเท่าไหร่ก็ต้องทำงานไป
 

+++ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการส่งตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ในสัดส่วนของวุฒิสภา 2 คน ว่า มีการทาบทามบุคคลที่เหมาะสมแล้ว แต่ปรากฏว่า เมื่อนํารายชื่อเข้าสู่ที่ประชุมวิปวุฒิสภา มีคนถอนตัวไป เหลือเพียงคนเดียว โดยจะดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อส่งรายชื่อให้กับ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และคงต้องพูดคุยกัน ให้หนักแน่นมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดการถอนตัวอีก ซึ่งที่ผ่านมาก็ตั้งสเปคผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสมานฉันท์ค่อนข้างสูง ไม่เอาคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญ

 

+++ ส่วนที่ผู้เห็นต่าง ยืนยันไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการสมานฉันท์นั้น ประธานวุฒิสภา ระบุว่า เบื้องต้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเทียบเชิญ แต่มองว่าต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องพยายามทำให้ครบองค์ประกอบ และคาดว่า นายชวน จะพูดคุยกับฝ่ายค้านอีกรอบ
 

+++ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย.2563 มีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ วุฒิสภา เห็นชอบองค์ประกอบของกรรมการสมานฉันท์ให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน มาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน 2.ตัวแทนส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 3.ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 4.ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน 5.ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล)
 

+++ 6.ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, 1 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, 1 คน มาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คน มาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปรองดองสมานฉันท์
 

+++ สถานการณ์ ณ ตอนนี้ เมื่อ “ฝ่ายค้าน” และ “คู่ขัดแย้ง” ไม่เข้าร่วมแล้วจะเดินหน้า “สมานฉันท์ปรองดอง” ต่อไปได้อย่างไร เปรียบเหมือน “ตบมือข้างเดียว” จะตบได้อย่างไร และจะดังได้อย่างไร ...อลวน อลเวง ด้วยประการฉะนี้