ส่อง 5 บิ๊กอสังหาฯ  9 เดือนมรสุม ‘โควิด’ 

19 พ.ย. 2563 | 02:55 น.

เช็กชีพจร 9 เดือน 5 บิ๊กอสังหาฯ ไทย ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจโควิด พบเอพี (ไทยแลนด์) นำโด่ง รายได้-กำไร ขณะพี่ใหญ่พฤกษา เคาะปีนี้อสังหาฯหดตัวไม่ต่ำกว่า 30% ล้อกับผลประกอบการบริษัท ด้าน แสนสิริ -ออริจิ้น ยอดขายพุ่งเป็นตำนาน แต่กำไรหดตัว วัดดวงไตรมาสสุดท้าย ฟื้นหรือฟุบยกแผง

 

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลื่นระลอกใหญ่ที่กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลากยาวมาจนถึงช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 สะท้อนจากตัวเลขจีดีพี (อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพิ่งประกาศล่าสุด หดตัว 6.4% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) เศรษฐกิจไทยหดตัวรวม 6.7%  ยังคงส่งผลต่อภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้มาตรการล็อกดาวน์จะจบสิ้น แต่พฤติกรรม ความเชื่อมั่น และความมั่นคงทางรายได้ของผู้บริโภค เจอจุดเปลี่ยน กระทบต่อยอดจองและยอดการโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการที่อยู่อาศัยของแต่ละบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์มากน้อยแตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกเหนือการจากที่ส่วนใหญ่จะเน้นพับแผนโครงการเปิดใหม่ และหันมาระบายสต็อกในมือ ควบคู่กับการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ 
  

ส่อง 5 บิ๊กอสังหาฯ  9 เดือนมรสุม ‘โควิด’ 

 

 ผลงานโดดเด่นสุด ต้องยกให้บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในตารางในแง่ของผลกำไร หลังจากแจ้งงบ 9 เดือน สามารถทำรายได้พุ่งสูงสุด 35,180 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 3,280 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 50% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุ ว่าเป็นผลมาจาก การปรับตัวที่รวดเร็ว ภายใต้การบริหารจัดการกระแสเงินสดที่รัดกุม ส่งผลให้ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นบริษัทฯ ยังคงสามารถสร้างผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้นในทุกไตรมาส และมากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะรายได้รวมจากสินค้าแนวราบ ที่หันมาเปิดตัวสินค้าใหม่ บ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมรวมทั้งสิ้น 39 โครงการ และรายได้จากกลุ่มคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ (ร่วมทุน) อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า วิกฤติคราวนี้ จะยังอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน นำมาซึ่งพายุการเปลี่ยนแปลงลูกใหม่ จึงจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์รอบด้าน ประกอบกับการบริหารจัดการกระแสเงินสด เพื่อให้เรารอดผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน 


    ด้านบมจ.แสนสริ แจ้งตลาดหลักทรัพย์ เรื่องผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ว่ายังคงมีทิศทางที่เป็นบวก จากรายได้รวม 8,582 ล้านบาท โต 43% จนส่งผลให้รอบ 9 เดือน บริษัทมีรายได้รวมสะสม 26,511 ล้านบาท เติบโตขึ้น 57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากผลงานการโอนฯที่ประสบความสำเร็จ ทั้งจากโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม แต่พบอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับงวด 9 เดือน ลดลงมาอยู่ที่ 22.9% จาก 27.3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรลดลงจาก 1,141 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,084 ล้านบาท  โดยคาดว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมส่งเสริมการขาย กระตุ้นการโอนกรรมสิทธิ์ของยูนิตที่สร้างเสร็จแล้ว เพื่อเร่งระบายสินค้าคงเหลือในช่วงวิกฤติช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม นางสาววรางคณา อัครสถาพร รักษาการ ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน ยืนยันบริษัท มีกระแสเงินสดในมือรวม 12,000 ล้านบาท ซึ่งมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจและตุนยอดขายรอรับรู้รายได้ในมืออีกกว่า 32,000 ล้านบาท เพื่อหนุนยอดโอนตามเป้าหมายใหม่ 43,000 ล้านบาท 


    ขณะพี่ใหญ่ของวงการ นายปิยะ ประยงค์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุ ภาพรวมตลาดอสังหาฯในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาด 208,994 ล้านบาท ลดลงถึง 31% ซึ่งหากยังไม่มีปัจจัยบวกมาสนับสนุน คาดว่า ทั้งปีจะติดลบประมาณ 30% สำหรับบริษัทนั้น แม้ในช่วงไตรมาสสองที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบ แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังปรับแผนธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ มุ่งเน้นการเปิดโครงการใหม่ และเลือกทำการรีมาร์เก็ตติ้ง ในโครงการที่มีศักยภาพสูง (ฮีโร่โปรเจ็กต์) และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี         


    ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ. แอล.พี.เอ็น เผย งวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้รวม 4,713 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิลดลง 11.35 % ซึ่งเกิดจากรายได้จากการขายที่ลดลง ส่วนรายได้จากธุรกิจเช่า บริการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 39.18 % เช่น รายได้จากการเช่าของโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง 1 (เฟส 3) เพิ่มขึ้น 87% และรายได้ค่าบริหารเพิ่มขึ้น เกิดจากการบริหารงานโครงการภายนอกที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ ระบุ แม้สถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายลง แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังหยุดชะงัก รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นด้านต่างๆ ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ 
    

 

 

ปิดท้ายที่ดาวเด่นในด้ายยอดขาย บมจ.ออริจิ้น ซึ่งประกาศติดท็อป 5 ของอสังหาฯไทย ด้วยอัตรากำไรสุทธิ 28.2% ในไตรมาสที่ 3 โดยนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ระบุ แม้ไตรมาส 3 ยังคงมีความท้าทายจากสถานการณ์ซึ่งควบคุมไม่ได้ แต่บริษัทยังคงเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ ปรับรูปแบบการพัฒนา และการขายให้เข้ากับสถานการณ์ เน้นการประหยัดเงินลงทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ สำหรับไตรมาสสุดท้าย บริษัทคาดว่าจะสามารถรักษาระดับผลประกอบการให้โดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ขานรับนโยบายภาครัฐที่ขยายเวลารับส่วนลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ถึงสิ้นปีนี้ ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมพบ บริษัท มีรายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ 11,121 ล้านบาท กำไร  2,019 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 

 

หน้า 19-20  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563