ข้อดีที่ถูกมองข้ามของผู้นำหญิงในธุรกิจครอบครัว

24 เม.ย. 2559 | 02:00 น.
ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลกมีการส่งเสริมผู้หญิงให้ก้าวหน้ามากขึ้นและทำได้รวดเร็วกว่าคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เป็นแกนหลักของเศรษฐกิจโลก สามารถสร้างมูลค่าถึง 70%-90% ของมูลค่ามวลรวมของโลก (global GDP) และ 50%-80% ของงานในประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานคนจำนวนมาก เป็นตลาดหลักที่โดดเด่น และมีความสำคัญต่อชุมชนท้องถิ่นและเศรษฐกิจโลก

[caption id="attachment_47164" align="aligncenter" width="700"] Highlights Highlights[/caption]

ทั้งนี้จากการศึกษาของ EY and Kennesaw State University ที่ได้ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัวที่ใหญ่ที่สุดในโลก จำนวน 525 ราย ในตลาดใหญ่ทั่วโลกเพื่อศึกษาคุณลักษณะที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน พบว่าธุรกิจครอบครัวเหล่านี้เชื่อมั่นในคุณค่าของผู้หญิงทุกคนว่ามีภาวะผู้นำไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงที่เป็นสมาชิกในครอบครัวเท่านั้น เห็นได้จากผลการสำรวจที่สำคัญ เช่น บริษัทเหล่านี้มีผู้หญิงที่เป็นสมาชิกในครอบครัวอยู่ในตำแหน่งผู้นำ (เช่น ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กร (C-level) ไปจนถึงตำแหน่งรองประธานบริษัท) เฉลี่ยจำนวน 1.14 คน และมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง (C-suite) เฉลี่ยจำนวน 5 คน โดยในจำนวนนี้มีผู้หญิงที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว เฉลี่ยจำนวน 3.5 คน รวมถึงพบว่าพวกเขากำลังเตรียมให้ผู้หญิงขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุดเฉลี่ยจำนวน 4 คน โดยในจำนวนนี้มี 1 คนเป็นสมาชิกในครอบครัว และอีก 3 คนไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจครอบครัว 55% มีผู้หญิงอย่างน้อย 1 คนในบอร์ดบริหาร และมีธุรกิจครอบครัว 70% บอกว่ากำลังพิจารณาให้ผู้หญิงเป็นซีอีโอคนต่อไป (ภาพที่ 1)

ทั้งนี้โดยภาพรวมทั้งหมดจากผลการสำรวจชี้ว่าคุณลักษณะของธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จนอกจากจะช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในระยะยาวแล้วยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและนำไปสู่การพัฒนาผู้นำที่เป็นผู้หญิงอีกด้วย โดยสามารถสรุปสูตรความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ได้ดังนี้

1) Role models ธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ผู้หญิงขึ้นสู่ตำแหน่งระดับผู้บริหารระดับสูงสุด (C-suite) และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งสนับสนุนต้นแบบ (role model) ให้กับผู้หญิงที่ยังอยู่ในตำแน่งไม่สูงและมีการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าจะเลื่อนตำแหน่งขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำ ซึ่งเมื่อผู้หญิงขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ ในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำบ้าง

2) Long-term thinking ธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่จะคิดถึงระยะยาว โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การเป็นบริษัทที่มีความยั่งยืนสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดีทั้งด้านครอบครัวและธุรกิจ โดยใช้การเติบโตเป็นวิธีดำเนินไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้การคิดแบบระยะยาวและนึกถึงการอยู่อย่างยืนยาวนี้จะช่วยลดอคติทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำให้มีพื้นที่สำหรับผู้หญิงในการที่จะขึ้นเป็นผู้นำ

3) Inclusive environment ธุรกิจครอบครัวสร้างสมดุลระหว่างความสนใจของครอบครัวกับความจำเป็นของธุรกิจโดยมุ่งที่ความเหนียวแน่น การมีส่วนร่วม และความทุ่มเทที่จะสร้างความผาสุกและความมั่งคั่งให้กับครอบครัวและกิจการของครอบครัว โดยในระยะสั้นจะมุ่งในเรื่องคนมากขึ้นไม่ใช่เฉพาะเรื่องกำไรเท่านั้น ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบนี้จะส่งเสริมให้ผู้หญิงมีความก้าวหน้าขึ้นได้

ธุรกิจครอบครัวที่มีขนาดใหญ่และอายุยืนนานที่สุดในโลกนั้นถือเป็นยักษ์ใหญ่ของเศรษฐกิจด้วยอิทธิพลที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงนั้นได้รับการส่งเสริมในธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างดีเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในพลังของผู้หญิงในการเป็นผู้นำ ดังนั้นหากบริษัททั่วไปต้องการหาความได้เปรียบในการแข่งขันที่เกิดจากการสร้างความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง ก็สามารถเอาแบบอย่างคุณลักษณะของธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวอย่างรูปแบบความสำเร็จซึ่งมีลักษณะดังนี้

1) กำหนดเส้นทางที่ชัดเจนในการที่จะให้ผู้หญิงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำด้วย female role model

2) ดำเนินการตามกลยุทธ์ในระยะยาวและการเติบโตอย่างยั่งยืน

3) สร้างความเหนียวแน่น สภาพแวดล้อมการมีส่วนร่วมที่มุ่งคนมากขึ้นและลดการมุ่งความสำเร็จที่เน้นผลตอบแทนทางการเงินในระยะสั้น ทั้งนี้ความเหนียวแน่นที่เพิ่มขึ้นนี้จะนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจ

ที่มา: EY and Kennesaw State University. 2016. Woman in leadership: The family business advantage. A special report from a global survey of the world's largest family businesses. EY Family Business Center of Excellence . Ernst & Young Global Limited.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559