ความหวังเรืองรอง รู้จัก 2 วัคซีนโควิด ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการผลิต

11 พ.ย. 2563 | 01:53 น.

โลกเริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของ "โควิด-19" เมื่อบริษัทยาและบริษัทวิจัยเทคโนโลยีเวชภัณฑ์หลายรายประกาศความสำเร็จในการทดสอบ วัคซีนต้านโควิด โดยมีอย่างน้อย 2 รายกำลังคืบหน้าเข้าสู่กระบวนการผลิตแล้ว

ต้นสัปดาห์นี้ คณะวิจัย 2 ทีมที่ประกาศความคืบหน้าในการวิจัยและพัฒนา วัคซีนต้านโควิด-19 และกำลังมุ่งหน้าเริ่มการผลิตเพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการใช้ทั่วโลก ได้แก่ ทีมของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค กับทีมมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เรามาดูกันว่า วัคซีนซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของทีมวิจัยเหล่านี้ ขยับเข้าใกล้การใช้งานจริงและให้ความหวังกับเรามากน้อยเพียงใด 

 

วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค

ทีมพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ของ บริษัท ไฟเซอร์ อิงค์. ( Pfizer Inc.) ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของเยอรมนี ประกาศความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากกว่า 90% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (9 พ.ย.) นับเป็นคณะวิจัยวัคซีนโควิด-19 ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด

ความหวังเรืองรอง รู้จัก 2 วัคซีนโควิด ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการผลิต

ทั้งนี้ ผลทดสอบวัคซีนจากการทดลองทางคลินิกเฟสที่ 3 ซึ่งเป็นการทดสอบวัคซีนกับคนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างหรืออาสาสมัครจำนวน 43,538 คน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี บราซิล อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และตุรกี พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสได้สูงกว่า 90% โดยไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ และไม่พบปัญหาเรื่องความปลอดภัย

 

ดร.อัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์กล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในรอบ 100 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังต้องการวัคซีนตัวนี้มากที่สุด  

 

อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์ขั้นต้นดังกล่าว มาจากการประเมินกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อโควิด-19 ชุดแรกจำนวน 94 ราย จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งแต่ละคนจะได้รับวัคซีนหรือยาหลอก (Placebo) คนละ 2 โดส โดยพบว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนติดเชื้อน้อยกว่า 10% ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอกนั้นติดเชื้อมากกว่า 90%

 

ผู้บริหารของไฟเซอร์ระบุว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวนี้ พัฒนาโดยเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยผ่านการรับรองมาก่อน อย่าง mRNA หรือเทคโนโลยีที่ใช้ตัวอย่างจีโนมของไวรัสเพื่อกระตุ้นการผลิตภูมิต้านทาน วัคซีนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ได้มากกว่า 90% ในช่วง 7 วันหลังจากที่ให้วัคซีนโดสที่ 2  หมายความว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะสามารถต้านทานไวรัสได้ 28 วัน นับตั้งแต่ที่เริ่มต้นการให้วัคซีน

 

จากประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้มากกว่า 90% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ หรือ FDA เคยคาดหวังไว้ที่ 50% เท่านั้น ทำให้ทางไฟเซอร์เตรียมยื่นต่อ FDA ขออนุมัติการใช้งานวัคซีนดังกล่าวในกรณีฉุกเฉินภายในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนนี้ หลังจากที่ได้ข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนมากเพียงพอ

 

ไฟเซอร์คาดหมายว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ 50 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2563 นี้ และอีกราว 1,300 ล้านโดส ในสิ้นปีหน้า (2564) โดยกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ คาดว่าจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สถานดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำหรับสนนราคาวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคนี้ บริษัทเผยว่าจะมีราคาโดสละ 19.50 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 594.20 บาท ซึ่งต้องฉีดคนละ 2 โดส

วัคซีนของม.ออกซ์ฟอร์ด-บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า

นายปาสคาล โซเรียต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) บริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของอังกฤษ ที่กำลังร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 พ.ย.) ว่า บริษัทกำลังทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ขั้นสุดท้ายในหลายประเทศ ซึ่งคาดว่า จะได้รับผลจากการทดลองขั้นสุดท้ายภายในสิ้นปีนี้ หากผลทดลองประสบความสำเร็จ แอสตร้าเซนเนก้าจะยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนฉุกเฉินในหลายประเทศพร้อม ๆ กัน

ความหวังเรืองรอง รู้จัก 2 วัคซีนโควิด ที่กำลังเข้าสู่กระบวนการผลิต

หนึ่งในประเทศที่มีข้อตกลงร่วมผลิตกับบริษัทแล้วในขณะนี้ คือประเทศจีนและออสเตรเลีย โดยในจีน แอสตร้าเซนเนก้า จับมือทำข้อตกลงกับบริษัทเซินเจิ้น คังไถ ไบโอโลจิคัล โปรดักส์ (Shenzhen Kangtai Biological Products) เพื่อผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีชื่อว่า AZD1222 โดยบริษัทเซินเจิ้น คังไถ จะดำเนินการผลิตอย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้

 

กระบวนการใช้งานวัคซีนในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป บริษัทคาดหมายว่า วัคซีน AZD1222 อาจได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีนได้ภายในกลางปี 2564 หลังจากรวบรวมข้อมูลด้านความปลอดภัยจากการทดลองขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ในประเทศจีน รวมถึงข้อมูลด้านประสิทธิภาพจากการทดลองขั้นที่ 3 ในต่างประเทศประกอบกันด้วย

ส่วนที่ประเทศออสเตรเลีย บริษัทมีความร่วมมือกับ ซีเอสแอล (CSL) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติออสเตรเลีย ทำข้อตกลงร่วมกันผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ล่วงหน้าสำหรับใช้งานในช่วงครึ่งแรกของปี 2564  หากการทดลองที่เหลืออยู่สามารถพิสูจน์ได้ว่าประสบผลสำเร็จ

 

ทั้งนี้ ออสเตรเลียเริ่มดำเนินการผลิตวัคซีนดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยวางแผนจะผลิตในเบื้องต้นราว 30 ล้านโดส แม้ว่าวัคซีนตัวนี้ยังคงอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก แต่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวัคซีนที่มีแนวโน้มประสบผลสำเร็จในระดับโลก

 

“เรากำลังดำเนินกิจกรรมการผลิตที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควบคู่ไปกับการทดลองทางคลินิกและกระบวนการอนุมัติ เพราะเราตระหนักถึงความเร่งด่วนเรื่องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” แอนดรูว์ นาช หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ของซีเอสแอล กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์

 

บริษัทเผยว่า ในการใช้วัคซีนจำเป็นต้องฉีดให้ 2 โดสต่อคน ซึ่งหมายความว่าในเบื้องต้น จะมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพรวม 15 ล้านคน อย่างไรก็ดี วัคซีนนี้จะยังไม่ถูกนำมาใช้งานจนกว่ากระบวนการพัฒนาจะได้รับการตรวจสอบและอนุมัติโดยสำนักงานผลิตภัณฑ์รักษาโรคแห่งออสเตรเลีย (TGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ราคาวัคซีนต้านโควิด-19 ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการทดสอบขั้นสุดท้ายนี้ สนนราคาตั้งไว้ที่ 4 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 121.84 บาทต่อโดส