วิจัยพบเด็กหญิงไทยสาวก่อนวัย เสี่ยงตั้งครรภ์ไม่พร้อม

29 ต.ค. 2563 | 10:05 น.

วิจัยพบเด็กหญิงไทยสาวก่อนวัย มีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยสุด 7.96 ปี ห่วงผลข้างเคียง "ตัวเตี้ย" เสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม ตั้งครรภ์ไม่พร้อม

 

 29 ต.ค. 2563 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดแถลงข่าวผลการศึกษา “สถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย”จากการเก็บข้อมูลจากนักเรียนหญิงกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ชั้น ป.3-ม.3 หรืออายุตั้งแต่ 8-14 ปี จำนวน 8,161 คน จากโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 7 แห่ง ภาคเหนือ 16 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 30 แห่ง ภาคกลาง 22 แห่ง และภาคใต้ 20 แห่ง คละกันทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน ในและนอกเขตเทศบาล โรงเรียนสหศึกษาและโรงเรียนหญิงล้วน
     

ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  จากผลวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยของเด็กหญิงไทยมีประจำเดือนครั้งแรกอยู่ที่ 11.57 ปี ประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วสุดอยู่ที่อายุ 7.96 ปี และประจำเดือนครั้งแรกมาช้าสุดอยู่ที่อายุ 16.92 ปี ซึ่งลดลงกว่าผลการสำรวจของนักวิชาการท่านอื่นๆ ที่เคยศึกษาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ผลวิจัยล่าสุดยังได้สอบถามแม่ของเด็กกลุ่มตัวอย่าง และทำให้เห็นว่าหญิงไทยรุ่นลูกประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วกว่ารุ่นแม่
         

ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อภาวะการเป็นสาวเร็วหรือมีประจำเดือนมาเร็วก่อนวัยอันควร ข้อค้นพบจากงานวิจัยสามารถแบ่งได้เป็น 1.อาหารและเครื่องดื่ม หากเป็นขนมกรุบกรอบ เฟรนซ์ฟรายด์ เบเกอรี่ น้ำอัดลม ชา กาแฟ และนมวัว จะเร่งการมีประจำเดือนครั้งแรกให้มาเร็วขึ้น ตรงข้ามกับน้ำเต้าหู้ นมแพะ ถั่ว ผัก/ผลไม้ ตลอดจนเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการฉีดฮฮร์โมนจะชะลอการมีประจำเดือนครั้งแรกออกไป
         
2.กรรมพันธุ์ หากแม่มีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุน้อยๆ ลูกสาวก็มักจะเป็นเช่นเดียวกัน 3.กายภาพ หากเด็กหญิงมีมวลกล้ามเนื้อมากจะชะลอการมีประจำเดือนครั้งแรกออกไป แต่หากมีไขมันมากจะเร่งการมีประจำเดือนครั้งแรกให้มาเร็วขึ้น และ 4.พฤติกรรมการใช้ชีวิต พบการใช้ขวดพลาสติก ใช้เครื่องสำอางเวชภัณฑ์ บริโภควิตามินหรืออาหารเสริม รวมถึงรับสื่อที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เหล่านี้จะเร่งการมีประจำเดือนครั้งแรกให้มาเร็วขึ้น เป็นต้น
         

ศ.ดร.ปังปอนด์ ยังกล่าวอีกว่า ขณะที่ในทางการแพทย์ พบภาวะการเป็นสาวเร็วส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ นั่นคือกระดูกจะปิดเร็วส่งผลให้ส่วนสูงไม่เพิ่มขึ้นเต็มที่ตามศักยภาพทางกรรมพันธุ์ที่เด็กนั้นมี ทำให้เด็กมีรูปร่างเตี้ยกว่าปกติ นั่นทำให้พ่อแม่ที่มีฐานะดีและรู้ว่าลูกสาวมีภาวะเข้าสู่วัยสาวเร็วก่อนถึงเวลาอันควร จะไปพบแพทย์เพื่อให้ฉีดยาระงับฮอร์โมน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 6,000-15,000 บาทต่อเดือน
         

หรือล่าสุดมียาที่ฉีดทุกๆ 3 เดือน ราคาเข็มละ 7,383 บาท ระยะเวลารวมในการฉีดอยู่ที่ประมาณ 3 ปี โดยค่าใช้จ่ายนี้หากไม่เป็นครัวเรือนที่จ่ายเองก็จะเป็นภาระของรัฐตามสวัสดิการต่างๆ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ข้อมูลที่น่าสนใจยังพบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุ 8-9 ปี ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการรักษา “ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร” ด้วยการใช้ “กดฮอร์โมน” ปีละ 400-500 คน มูลค่าการใช้ยาอยู่ที่ 58,668 บาท/คน 
         

นอกจากนี้ งานวิจัยในต่างประเทศบางชิ้น พบว่าการเข้าสู่วัยสาว หรือประจำเดือนครั้งแรกมาเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ยังเชื่อมโยงกับความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมด้วย
         

ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์ “การเป็นสาวก่อนวัย หรือ Early Puberty” เป็นประเด็นที่วงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกให้ความสนใจเนื่องจากมีหลักฐานชี้ชัดว่าการเข้าสู่วัยสาวเร็วเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายอย่าง เช่น สุขภาพจิต สุขภาพของระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เป็นต้น

 

การเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นหรือการ “เป็นสาวก่อนวัย” จึงถือเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพ (determinant of health) ที่ สสส. ให้ความสำคัญเพราะหากเราสามารถปรับวิธีดูแลเด็กไม่ให้เป็นสาวก่อนวัย จะเท่ากับเราส่งเสริมให้เด็กมีฐานทุนชีวิตในด้านสุขภาพที่ดี พร้อมเจริญเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อต่างๆ หรือ NCDs และโรคในระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ได้ในอนาคต

 

อนึ่งสสส. พบว่างานวิจัยสถานการณ์การเริ่มเป็นสาวของเด็กหญิงในประเทศไทยที่สามารถนำมาอ้างอิงในระดับประเทศยังไม่เคยมีมาก่อน ส่วนใหญ่จะสำรวจในระดับพื้นที่เท่านั้น จึงเป็นที่มาของการสนับสนุนโครงการวิจัยในครั้งนี้ เพื่อให้สังคมไทยมีฐานข้อมูลวิชาการที่เชื่อถือได้