คลัง โต้ เศรษฐา ม.กระตุ้นกำลังซื้อ ครอบคลุมปชช.ทุกกลุ่ม

12 ต.ค. 2563 | 03:55 น.

คลัง โต้ เศรษฐา ม.กระตุ้นกำลังซื้อ ครอบคลุมปชช.ทุกกลุ่ม ยัน ช้อปดีมีคืน-คนละครึ่ง-บัตรสวัสดิการ 500 บาท ดันจีดีพีโต 0.54%

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวันนี้ ว่า มาตรการช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ล้วนเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ประชาชนหลากหลายกลุ่ม ที่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าเงื่อนไขของโครงการช้อปดีมีคืนและคนละครึ่งมีการทับซ้อนกันนั้น แนะนำให้ผู้เข้าร่วมโครงการเลือกโครงการใดโครงการหนึ่งตามความเหมาะสม

 

รายงานข่าวจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นต่อโครงการช้อปดีมีคืน ว่าเป็นการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจไม่ตรงจุดและเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ว่า มาตรการดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 มาตรการในการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ นอกเหนือจากโครงการคนละครึ่งและโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของกระทรวงการคลัง

 

ซึ่งทั้ง 3 มาตรการจะครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วนกว่า 28 ล้านคน  และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 192,000 ล้านบาท และจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.54%

 

ทั้งนี้มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีทุกรายล้วนแล้วอยู่ในข่ายที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทั้งสิ้น รวมถึงประชาชนผู้ที่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่น ซึ่งเป็นเศรษฐกิจระดับฐานราก

 

ขณะที่โครงการคนละครึ่ง จะดูแลช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าขนาดเล็กที่ประกอบกิจการขายสินค้าหาบเร่แผงลอยที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการกว่า 226,161 ร้านแล้ว ส่วนการจ่ายเงิน 500 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ได้โอนเงินงวดแรกให้กับผู้มีรายได้น้อยไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินดังกล่าวทยอยลงสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงยืนยันดูแลประชาชนทุกคนให้โดยความสำคัญแก่ทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน กระทรวงการคลังจะมีการติดตามทุกมาตรการอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป