รัฐบาล ศึกษาแลนด์บริดจ์ เชื่อมทะเลชุมพร-ระนอง

11 ต.ค. 2563 | 09:11 น.

รัฐบาล กางแผนศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ระหว่างท่าเรือจังหวัดชุมพรกับท่าเรือจังหวัดระนอง คาดใช้เวลา 1 ปีและเดินหน้าโครงการภายใน 2 ปีครึ่ง

วันที่ 11 ต.ค. 2563 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ขณะนี้กระทรวงคมนาคม กำลังทำการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ระหว่างท่าเรือจังหวัดชุมพรกับท่าเรือจังหวัดระนอง ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร คาดว่าจะช่วยย่นเวลาเดินทางของเรือสินค้าจากเส้นทางปกติได้กว่า 2 วัน


สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ จะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี ศึกษาแล้วจะสามารถเริ่มโครงการได้ภายใน 2 ปีครึ่ง จากแผนจะมีการสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ที่จังหวัดชุมพรและระนอง เชื่อมต่อกันด้วยการสร้างเส้นทางขนส่งทางบก โดยมีทั้งรถไฟทางคู่ และทางหลวงพิเศษ(มอเตอร์เวย์) ซึ่งจะทำให้เรือสินค้าที่ใช้เส้นทางปกติ หันมาขนส่งเส้นทางนี้แทน คาดว่าจะส่งผลในทางด้านเศรษฐกิจมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก 

 

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
"รัฐบาลนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินหน้าปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก พึงพาตนเอง พร้อมมุ่งที่การลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขัน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ระนองเชียร์สุดตัว ‘แลนด์บริดจ์ใหม่’

 เปิด PPP ชิง ท่าเรือน้ำลึก ชุมพร-ระนอง เชื่อมแลนด์บริดจ์-แหลมฉบัง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้แนวทางการศึกษาโครงการ โดยต้องดูอย่างสมบูรณ์ รอบคอบ ไม่ว่าจะเป็น ความคุ้มค่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดยโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ที่ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและคมนาคมอย่างครบถ้วนต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)


โดยยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการนี้ คือการเชื่อมโยงระหว่าง 2 ภูมิภาค คือการเชื่อมตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมัน ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ ไปสู่เอเซียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฯลฯ ซึ่งเปรียบเสมือนผู้บริโภคน้ำมันและโรงงานโลก โดยผ่านไทย 


สำหรับโครงการนี้มีแผนที่จะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งนายศักดิ์ สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้แนวทางการร่วมลงทุนว่า ภาคเอกชนที่สนใจต้องร่วมลงทุนทั้ง ท่าเรือน้ำลึก รถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์