เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

11 ต.ค. 2563 | 07:39 น.

“เอสซีจี” กระตุ้นจิตสำนึกบริหารจัดการขยะ เดินหน้า SD Symposium นำความสำเร็จของชุมชนมาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมผนึกทุกภาคส่วน รวบรวมองค์ความรู้จากชุมชนและองค์กรที่มีการจัดการขยะเป็นผลสำเร็จ เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “Waste to wealth ...เงินทองจากกองขยะ”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า ขยะเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตคนมาตั้งแต่เกิด ตื่นมาเราผลิตขยะทุกรูปแบบ เมื่อเป็นคนสร้างขยะก็ต้องช่วยจัดการ เพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงขึ้นเรื่องขยะแค่ปรับมุมมองก็สามารถแปรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้ เพราะขยะมีทั้งกระดาษ พลาสติก ขยะสด เพียงแค่แยกออกมาจะเห็นว่าแต่ละอย่างมีราคา ขยะเป็นแหล่งรายได้ การจูงใจให้เกิดการคัดแยกเพื่อจะเห็นได้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นเงิน ซึ่งตอนนี้มีตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จของคนที่ทำเรื่องนี้มาเป็นจำนวนมาก

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะต้องไปด้วยกันทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกัน มีผลกระทบซึ่งกันและกัน กลไกสำคัญต้องเริ่มจาก “คน” สำคัญมากคือ “จิตสำนึกคน” ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรม ดังนั้น ต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยน“จิตสำนึกคน” ตั้งแต่ต้นทาง คือ สร้างขยะให้น้อยที่สุด ให้มองว่าเป็นของมีมูลค่า หาทางจัดการอย่างถูกวิธี คัดแยกให้ถูกประเภท และจัดการทางไปของขยะให้ถูกต้องตามแต่ละชนิดของขยะ เพื่อนำไปใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น โดยทุกตัวอย่างของผลสำเร็จเกิดจากการมีจิตสำนึกร่วมกัน อีกส่วนที่สำคัญคือ การทำให้ครบทั้งระบบ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการจัดการร่วมกันให้ครบทั้งระบบ รวมถึงการมีตัวอย่างที่ดีทำแล้วประสบความสำเร็จ ก็ควรนำมาเป็นแบบอย่างและทำตาม

 

“ตอนนี้เกิดต้นแบบที่ดีในหลายพื้นที่ แต่ทำอย่างไรที่จะนำไปแพร่ขยายสร้างแรงบันดาลใจให้มากที่สุด โดยปัจจุบันหลายพื้นที่ยังจัดการขยะไม่ถูกวิธี หรือไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริง เอสซีจีได้รวบรวมเรื่องราวการจัดการขยะที่หลากหลาย นำมาถอดบทเรียนความสำเร็จเป็นตัวอย่างสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้และปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ไว้ในหนังสือ “Waste to wealth …เงินทองจากกองขยะ” เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า “ขยะ” เป็นของมีค่า เพียงแต่ต้องจัดการอย่างถูกวิธี แต่ความรู้จากหนังสือเล่มนี้จะไม่เกิดประโยชน์เลย หากไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติจริง และช่วยกันขยายเครือข่ายความสำเร็จจากการจัดการขยะที่ดีต่อไป” ดร.สุเมธกล่าว

นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy) ที่มุ่งพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลักดันหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจ อาทิ เอสซีจีร่วมกับเทสโก้ โลตัส สนับสนุนการใช้ถุงกระดาษรีไซเคิลแทนการใช้ถุงพลาสติก และโครงการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิล จากความร่วมมือระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์, กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และซีพี ออลล์ ที่ร่วมมือส่งเสริมแนวทางการจัดการขยะพลาสติกให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด เป็นต้น

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

อีกทั้งยังส่งเสริมแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ภายใต้ SCG Circular way สร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิต และการบริโภค โดยเริ่มจากจัดการภายในองค์กรสำนักงานใหญ่บางซื่อ ริเริ่มโครงการ “บางซื่อโมเดล” เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากร เป็นต้นแบบที่ดีด้านการบริหารจัดการของเสีย ตลอดจนส่งต่อแนวคิดการจัดการขยะสู่ชุมชนภายนอก ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่นชื่อ “คุ้มค่า” โดยพนักงานเอสซีจีร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาเพื่อช่วยบริหารจัดการรวบรวมและคัดแยกขยะจากชุมชน ทำให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

เอสซีจี ได้ต่อยอดองค์ความรู้ หลังจากทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมา 3 ปี โดยเริ่มจัด SCG Symposium เชิญทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม เพราะเรื่องเหล่านี้ทำคนเดียวไม่ได้ และจัดต่อเนื่องทุกปีโดยในปีนี้ SD Symposium จะนำความสำเร็จของชุมชนมาถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเอากรณีศึกษาต่างๆ มาถ่ายทอดให้นำไปทดลองใช้ ลองผิดลองถูก เรียนรู้ร่วมกัน เชื่อว่าทุกภาคส่วนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การจัดการขยะของประเทศไทย หรือชุมชนต่าง ๆ ได้รับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อสังคมที่ดี การเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศ” นายยุทธนากล่าว

ชุมชนหมู่บ้านรางพลับ จ.ราชบุรี เป็นโครงการนำร่องในการขยายผลของเอสซีจี ด้วยการเข้าไปพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาขยะ ก่อนแลกเปลี่ยนแนวทางที่จะเปลี่ยนขยะเป็นความมั่งคั่ง (Waste สู่Wealth) ที่ชุมชนจัดการได้ด้วยตัวเองและมีส่วนร่วมในโครงการฯ โดยเอสซีจีเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ หาได้ในชุมชน ทำให้ขยะอินทรีย์กลายเป็นอาหารสัตว์ หรือปุ๋ยที่ใช้ในชุมชน และส่วนที่เหลือยังนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งชุมชนยังพัฒนาต่อยอดจากการสร้างมูลค่าของเสียให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตลอดจนขยายผลให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะอินทรีย์ชุมชนที่อยู่ในเมืองและต่างจังหวัดอีกด้วย

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

ด้านผู้ใหญ่สนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านรางพลับ จ.ราชบุรี เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการขยะคือ นอกจากขยะจะสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังก่อปัญหาการทะเลาะกันในชุมชนด้วยจากความพยายามผลักขยะที่มีกลิ่นไปไว้หน้าบ้านคนอื่น แม้จะมีความพยายามให้แยกขยะและทุกบ้านมีถังรองรับ จึงมองว่าถังขยะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น การจัดการขยะต้องทำตั้งแต่ต้นทาง พยายามให้คนในชุมชนแยกขยะก่อนทิ้ง เพราะขยะมาจากมนุษย์ ต้นทางคือแต่ละบ้าน เมื่อมีถังอยู่พฤติกรรมชาวบ้านไม่เปลี่ยน ตอนแรกมีปัญหาเยอะต้องเด็ดขาดสั่งห้ามคืนถังให้ชาวบ้าน ต้องมีการปรับพฤติกรรมของชุมชน ผมใช้งบส่วนตัวซื้อถุงดำแจกทุกบ้านสำหรับขยะสองสัปดาห์ หลังจากนั้นต้องช่วยตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าเราเป็นชุมชนด้านเกษตรมีถุงปุ๋ยที่สามารถนำมาเป็นถุงคัดแยกขยะได้

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

หลังจากแยกขยะแล้ว ยังมีปัญหาตามมา เนื่องจากซาเล้งที่เข้ามารับซื้อจะเทรวมให้ราคาไม่จูงใจชาวบ้านก็เลิกแยกขยะ จึงต้องปรับกลยุทธ์มองหาตลาดให้กับชาวบ้านที่คัดแยกขยะได้รับราคาที่เหมาะสม ซึ่งมีร้านรับซื้อที่พร้อมจะร่วมด้วย โดยมีการกำหนดจุดนัดหมายและวันเข้ามารับซื้อชัดเจนด้วยราคาที่จูงใจกลายเป็นการสร้างรายได้ให้ผู้สูงวัยและเด็ก แต่ยังมีปัญหาเรื่องขยะเปียก จึงเข้าไปปรึกษากับโรงงานสยามคราฟท์ของเอสซีจี ให้เข้ามาช่วยชี้นำเรื่ององค์ความรู้ สอนเรื่องการจัดการขยะเปียกให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ จนในที่สุดก็แก้ปัญหาได้ ซึ่งปัจจุบันชุมชนรางพลับกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ ของกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ที่หลายชุมชนเข้ามาศึกษาดูงานในการจัดการขยะ

เปลี่ยนแนวคิด แปลง "ขยะ" ให้กลายเป็น "ทรัพย์"

“ผู้นำมีส่วนสำคัญ ถ้าไม่มีคนขับเคลื่อนตลอดเวลาก็ไม่สำเร็จ เพราะชาวบ้านต้องการผู้นำที่ทำให้เห็นจึงพร้อมจะร่วมด้วย และการมีพันธมิตรรับซื้อขยะที่มีเจตนาร่วมกับชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญเหตุผลที่หลายชุมชนไปต่อไม่ได้ เนื่องจากประสบปัญหาการรับซื้อให้ราคาไม่จูงใจในการคัดแยกแม้ขณะนี้รายได้จากขยะของชุมชนไม่มากเหมือนในช่วงแรก แต่ก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมในการคัดแยกและเก็บขยะในชุมชน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่สำคัญสร้างความสามัคคี ทำให้ชุมชนสะอาด ลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม” ผู้ใหญ่สนั่นกล่าว