รถไฟฟ้า สายสีส้ม เจออีกดอก! ชาวบ้านร้อง เวนคืน ไม่เป็นธรรม

04 ต.ค. 2563 | 17:19 น.

   รฟม.เจออีกดอก ! 6 ต.ค. ศาลปกครองกลาง เรียกชาวบ้านแจงคดีเปลี่ยนแนวเวนคืนสายสีส้มจากพระราม 9 -ดินแดงเป็นประชาสงเคราะห์ไม่เป็นธรรม ขณะคดีบีทีเอสร้องรื้อเกณฑขึ้นศาล 14 ต.ค.

 

หลังบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี ยื่นฟ้องการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปมรื้อเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.4แสนล้านบาท และเตรียมขึ้นศาลชี้แจงร่วมกัน วันที่ 14 ตุลาคม 2563นี้ จนเป็นเหตุให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสั่งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ การรื้อเกณฑ์พิจารณาด้านเทคนิคร่วมกับราคา

 

ล่าสุดรฟม.ต้องเจอมรสุมอีกระลอกเมื่อ ศาลปกครองกลาง มีหนังสือด่วนเรียก ผู้แทนชุมชนประชาสงเคราะห์ ในฐานะคู่กรณีผู้ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำ พ9/2559 ชี้แจง (แถลง) ต่อหน้าศาล ในคดี หมายเลขแดง /2563 วันที่ 6ตุลาคม 2563 เวลา 13.00น. ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ประเด็นรฟม.ออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนไม่ ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนจากถนนพระราม9-ดินแดง-ประตูนํ้า กลายเป็นเส้นทางที่วกเข้าสู่ศูนย์วัฒนธรรมลอดใต้ห้างดังย่านรัชดาฯ

 

ตัดผ่านพื้นที่ชุมชนหนาแน่น อย่างประชาสงเคราะห์ก่อนอ้อมไปยัง ถนนวิภาวดีรังสิต วิ่งทะลุสู่ประตูนํ้า ซึ่งเป็นเส้นทางที่ทำให้รฟม.มีต้นทุนเพิ่ม ทั้งระยะที่ยาวขึ้น ค่าจัดกรรมสิทธิ์สูง สร้างความเดือดร้อนกับวิถีความเป็นอยู่ประชาชน โดยไม่จำเป็นหากเทียบกับ พระราม9-ดินแดง ซึ่งเป็นเส้นทางตรงไปตามถนนสายหลักที่เปิดสัญจร การเวนคืนแทบจะไม่เกิดขึ้น

               

 

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเส้นทางทางเลือกอื่นจากชาวบ้าน เพื่อลดผลกระทบกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ผ่านเส้นทางบนถนพระราม9 นั่นคือ โยกไปผ่านเส้นทางถนนผังเมืองรวมกทม.สาย “ง 13” จาก กทม.2-ศูนย์วัฒนธรรม และอีกเส้นทาง สามารถผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า ขอเป็นการเจาะอุโมงค์ลอดผ่านใต้ชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านอยู่กับความเจริญ ที่จะมาถึงแทนการเปิดหน้าดิน แต่รฟม.กลับไม่ให้ความสนใจจนเป็นสาเหตุให้เกิดการฟ้องร้อง

 

 อย่างไรก็ตามนายประทีป นิลวรรณ ประธานชุมชนประชาสงเคราะห์ เขตดินแดง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ชุมชนประชาสงเคราะห์ยินยอมให้ รฟม. สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มผ่านชุมได้หากใช้หัวเจาะ อุโมงค์ให้รถไฟฟ้าลอดผ่านใต้ชุมชนทั้ง184 หลังคาเรือนแทน แต่หากยืนยันที่จะเวนคืนต่อไปชาวบ้านจะ ต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ขณะเดียวกันชุมชนมีหลักฐานการนัดประชุมชาวบ้านบางส่วน จำนวน 90 คน โดยแอบอ้างว่า คนจำนวนนี้เห็นชอบให้รฟม.นำพื้นที่ชุมชนไปก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ ทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

 

ที่สำคัญรฟม.ไม่เคยลงพื้นที่ ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในรูปแบบ เปิดรับฟังความคิดเห็นทำให้การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สายสีส้มต้องถูกตีกลับ อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 ตุลาคม 2563 ยอมรับว่า ศาลปกครองกลางมีหนังสือด่วนเพื่อ เตรียมตัดสนคดีที่ชุมชน ยื่นฟ้องมานานกว่า 4 ปี หรือปี 2559 ซึ่งเป็นการนัดของศาลครั้งแรก

 

 

“เป็นการกระทำที่ผิดไปจากข้อตกลงของชุมชนและขัดต่อผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาอีกทั้งขัดต่อมติ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.)”

               

 

ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่ารฟม. ยืนยันว่าที่ผ่านมารฟม.ทำความเข้าใจกับประชาชนทั้งหมดแล้วซึ่งอยู่ในส่วนหนึ่งของการทำอีไอเอ บริเวณชุมชนโดยรอบ มองว่าไม่น่ามีผลกระทบอะไร เช่นเดียวกับการฟ้องร้องกรณีการรื้อเกณฑ์ประมูลสายสีส้ม