เช็กที่นี่ 8 โครงการแบงก์ปล่อยสินเชื่อ-ค้ำประกันช่วยผู้ประกอบการอาชีพอิสระ

04 ต.ค. 2563 | 05:41 น.

บสย. ผนึก กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัด“โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ”พร้อมจับมือ 4 แบงก์ปล่อยสินเชื่อ-ค้ำประกันช่วยผู้ประกอบการอาชีพอิสระ 8 โครงการ

ภายหลังจากที่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ภายใต้สังกัดกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ” เพื่อช่วยเหลือแรงงานและกลุ่มคนตกงาน บัณฑิตจบใหม่ให้มีทางรอด โดยเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ


นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะวิชาชีพแล้ว ยังมอบโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดย บสย. ให้การค้ำประกันสินเชื่อ จากกลุ่มธนาคารพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีด้วยกัน  4 ธนาคารที่เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 8 โครงการ ประกอบด้วย


1. ธนาคารออมสิน จำนวน  5  โครงการ แบ่งออกเป็น

1. 1.โครงการสินเชื่อเพื่อ Street food วงเงิน 3 ล้านต่อราย      

 
1.2. โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย  


1.3. โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย


1.4. โครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย


1.5. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 50,000 บาทต่อราย
 

2.​ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่


2.1 โครงการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย วงเงิน 200,0000 บาทต่อราย


3.ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ 


3.1 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย


4.​ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  จำนวน 1 โครงการ ได้แก่


4.1  สินเชื่อฮักบ้านเกิด


สำหรับการร่วมมือกันในครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบจากการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. จำนวน 29,300 ล้านบาท และ ช่วยอุ้มแรงงาน 95,000 คน ให้กลับมามีอาชีพและทางรอดในการฝ่าวิกฤตโควิด -19 (  COVID-19 )


 

ปัจจุบันสถานการณ์ด้านแรงงานของไทย ยังเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 โดยข้อมูล ไตรมาส 2/2563 จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 1.6 ล้านคน  แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 1.1 ล้านคน และ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน  และมีกำลังแรงงาน (ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-60 ปี) 38.2 ล้านคน 


ในไตรมาส 4/2563 ประมาณการว่า จะมีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสะสม 6.5%  แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 2 ล้านคน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคน