เศรษฐกิจไทย ที่ทั้งอ่อนแอ เปราะบางและเหลื่อมล้ำสูง

29 ก.ย. 2563 | 11:20 น.

เศรษฐกิจไทย ที่ทั้งอ่อนแอ เปราะบางและเหลื่อมล้ำสูง : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3614 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 1-3 ต.ค.63 โดย...กาแฟขม

 

เศรษฐกิจไทย

ที่ทั้งอ่อนแอ

เปราะบางและเหลื่อมล้ำสูง
 

     **** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3614 ระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2563 ประเดิมเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ยากลำบากด้วยโควิด-19 รุกกระหน่ำรอบทิศ ทั่วโลกคร่าชีวิตไปแล้วกว่า 1 ล้านคน วัคซีนที่จะผลิตจะวิจัยกันขึ้นมา ก็มีทีท่าจะยาวออกไปปลายปีหน้า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อึดอัดขัดข้องกันไปทั่ว ทำมาค้าขายตะกุกตะกัก เดินหน้าก็ไม่เป็น ถอยหลังก็ไม่ได้ เหลียวซ้ายแลขวาเก้ๆ กังๆ
 

     **** ที่เก้ๆ กังๆ ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย แต่รัฐบาลเรือเหล็ก ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสมือนฝ่าพายุโควิดอยู่คนเดียว 1 เดือนก็แล้ว 2 เดือนก็แล้ว ยังหาตัวรัฐมนตรีคลังตัวจริงไม่ได้ ช่างปะเหมาะเคราะห์หามก็ยามนี้ ด้วยว่าปัญหาที่รอข้างหน้าแสนสาหัส ประเมินกันครั้งแล้วครั้งเล่า จะมีผู้ตกงานกว่า 3 ล้านคน เศรษฐกิจตกต่ำติดลบ 8-10 % ส่งออกติดลบกว่า 10% ปีหน้าก็ใช่ว่าจะกลับฟื้นคืนได้ รายเล็ก รายน้อยธุรกิจห้องแถว เอสเอ็มอี โบกมือลากันเป็นแถวเทือก

     **** ว่าก็ว่าประเทศเพื่อบ้านในอาเซียน ก็เจอพิษโควิดเหมือนกัน แต่เพื่อนเราลงน้อยกว่าเรา บางคนก็ว่าเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเปราะบาง ด้อยขีดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อเจอพิษภัยกระทบ ก็ฟื้นตัวยาก ฟื้นตัวช้า ดูเวียดนาม ดูฟิลิปปินส์ เปรียบเทียบ ก็เห็นกันชัดๆ
 

     **** ตรงเป้า ตรงประเด็นก่อนอำลาตำแหน่ง ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่เพิ่งเป็นอดีตไปหมาดๆ บอกว่าคนไทยจะอยู่ดีกินดีได้อย่างยั่งยืนนั้น ระบบเศรษฐกิจไทยต้องมีรากฐานที่ดีอย่างน้อย 3 ด้าน คือ คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูงและมีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ คนไทยและเศรษฐกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือสูง และ การกระจายผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึงไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น
 

     **** ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยอ่อนแอทั้ง 3 ด้าน โดยผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ จากการขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม เผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี การโยกย้ายแรงงานและทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง ยังถูกจำกัดด้วยกฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัยและเอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่ ในภาพใหญ่โครงสร้างเศรษฐกิจยังพึ่งพิงการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่างๆ โดยเฉพาะการเผชิญโลกข้างหน้าที่ไม่แน่นอนสูงขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งสภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้น

     **** ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวสูงมีความเหลื่อมล้ำในหลายๆ มิติ คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทั้งโอกาสตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเข้าถึงบริการสุขภาพและทรัพยากรต่างๆ ที่แตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา 5 % ความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นส่งถึงการทำงาน อาชีพ และรายได้แตกต่างกัน และสะสมเพิ่มเรื่อยๆก่อนส่งต่อให้รุ่นลูกรุ่นหลาน
 

     **** ดูตัวเลขการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจกันจะๆ ในภาคครัวเรือน ประชากรที่มีรายได้สูงสุด 1 %แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันถึง 20% ของรายได้ทั้งหมดของประชากรขณะที่ในภาคการผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุด 5 % ครองส่วนแบ่งรายได้ 85% ของการผลิตนอกภาคเกษตร เป็นความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อแบบคนยากจนไม่มีโอกาสพลิกผัน คิดกันให้หนัก ช่วยกันให้ดี จะส่งผ่านประเทศสถานะนี้ให้กับลูกหลานหรือ ​​​​​​​