อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า"

29 ก.ย. 2563 | 00:03 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท เปิดตลาด "แข็งค่า" รับแรงหนุนจากตลาดทุนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ แต่ในระยะสั้นกรอบการเคลื่อนไหวจะไม่กว้าง

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.63 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่า"จากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.73 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 31.50-31.70 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ช่วงคืนที่ผ่านมาสามารถแข็งค่ากลับตามทิศทางของเงินดอลลาร์ โดยในวันนี้ เชื่อว่าน่าจะได้รับแรงหนุนจากตลาดทุนและสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นเชื่อว่ากรอบการเคลื่อนไหวจะไม่กว้าง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนจากการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐรออยู่ในช่วงเช้าตรู่วันพุธ 

 

สำหรับในช่วงคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นถึง 1.6% ด้วยแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและธนาคาร ขณะเดียวกัน STOXX 600 ของยุโรปก็ปรับฟื้นตัว 2.2% พร้อมกันด้วยความหวังว่าอังกฤษและสหภาพยุโรปจะสามารถหาข้อตกลงเรื่อง Brexit กันได้ในที่สุด แรงกดดันที่ลดลงเห็นได้จากการที่ดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index ปรับตัวลงกลับมาที่ระดับ 26% ยังส่งผลให้ราคาทองคำและน้ำมันปรับตัวขึ้น 0.9-1.1% ไปพร้อมกันด้วย

ส่วนในฝั่งตลาดเงิน ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีแรงกดดันหลังมาจากปอนด์อังกฤษ (GBP) ที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ ขณะเดียวกัน สกุลเงินในยุโรปส่วนใหญ่ก็ฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ประธานธนาคารกลางยุโรปนาง Christine Lagarde ชี้ว่านโยบายที่คาดว่าจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ไม่พุ่งเป้าไปที่อัตราแลกเปลี่ยน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 31.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 31.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้จะเงินบาทฟื้นตัวกลับมาบางส่วน แต่ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทน่าจะอยู่ในกรอบจำกัด ขณะที่ตลาดรอติดตามการดีเบตระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์พรรครีพับลิกัน และนายโจ ไบเดนพรรคเดโมเครต และความพยายามพลักดันข้อสรุปของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อีกครั้ง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้น่าจะอยู่ที่ 31.56-31.87 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. และดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค.