สธ.หนุนวิจัยวัคซีนโควิด -19 หลายช่องทาง

11 ก.ย. 2563 | 09:42 น.

"อนุทิน"เผยสนับสนุนการวิจัยวัคซีนโควิด -19 หลายช่องทาง เพื่อเพิ่มโอกาสคนไทยได้เข้าถึงเป็นประเทศแรก ๆ ของโลก

วันที่ 11 กันยายน 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โควิด - 19 ยังคงระบาดทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่ยังต้องดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคทุกด้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทดลองวัคซีนโควิด - 19 ของสถาบันหลักต่าง ๆ ทั่วโลก 


รวมถึงการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศด้วย เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่เข้าถึง เกิดการผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก พึ่งพาตนเองได้


“วันนี้เรามีการประชุมติดตามความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ของประเทศไทยและแผนการสนับสนุน ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อ ปรึกษา หารือ ระดมสมอง และให้ความคิดเห็น ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีน เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลสนับสนุนการวิจัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันรวดเร็ว"

 

สธ.หนุนวิจัยวัคซีนโควิด -19 หลายช่องทาง
 

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ไม่ว่าจะมีอุปสรรคปัญหาใด ขอให้คำยืนยันว่า การวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด -19 และการผลิตวัคซีนเป็นวาระสำคัญ ส่วนเรื่องงบประมาณสนับสนุนมีการทำบันทึกความเข้าใจและเงื่อนไขกับสถาบันต่าง ๆ ที่ทำการวิจัยซึ่งไม่ได้เจาะจงร่วมกับสถาบันใดเพียงแห่งเดียว แต่กระจายโอกาสออกไปในทุกสถาบันที่พิจารณาแล้วว่ามีศักยภาพสูง และมีความเป็นไปได้ที่ประสบความสำเร็จ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและบริษัทแอสตราเซเนกา ที่ชะลอการทดลองวิจัยวัคซีนโควิด -19 เนื่องจากพบปัญหามีผลกระทบกับผู้ทดลองวัคซีน ตามหลักการต้องศึกษาและแก้ไขปัญหาอาจทำให้ล่าช้า ส่วนที่ประเทศไทยไปร่วมมือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมานั้น ไม่ได้มีความเสียหาย เพราะเมื่อวัคซีนได้รับการยอมรับ ไทยก็ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาผลิตในประเทศต่อไป


ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ร่วมมือกับหลายสถาบันทั่วโลก รวมถึงเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ที่อยู่ภายใต้องค์การอนามัยโลกด้วย เพื่อให้มีหลายช่องทางในการเข้าถึงวัคซีนโควิด -19 เนื่องจากไม่มีอะไรรับประกันว่า การเข้าร่วมกับหน่วยงานเดียวแล้วถึงประสบความสำเร็จ
 

ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวัคซีนฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด- 19 โดยใช้ในกิจการที่มีความเร่งด่วน 2 ส่วน คือ การวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 400 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยพัฒนาปรับปรุงศักยภาพวัคซีนที่เป็นการทดสอบในลิง และการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาวัคซีนของประเทศอีก 600 ล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานใดก็ได้ที่มีความพร้อม


 สำหรับการสนับสนุนในส่วนอื่น ๆ การประชุมในวันนี้จะได้รับทราบความก้าวหน้า โดยสถาบันวัคซีนฯ จะรวบรวมเพื่อพิจารณาว่า แต่ละส่วนต้องการการสนับสนุนอย่างไร เพื่อทำคำขอรับงบประมาณจากเงินกู้โควิด -19 ในกรอบวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท  เพราะต้องการสนับสนุนทุกฝ่ายที่มีความพยายามพัฒนาวัคซีนโควิด- 19 ในประเทศไทย

สธ.หนุนวิจัยวัคซีนโควิด -19 หลายช่องทาง


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง