“รถไฟจีน-ลาว” คืบกว่า 90% จี้ไทยรับมือวิกฤติ-โอกาส

31 ส.ค. 2563 | 12:11 น.

รถไฟจีน - ลาว คืบหน้ากว่า 90% ทูตพาณิชย์จี้ผู้ส่งออก-นำเข้าไทย ต้องเตรียมรับมือ ระบุเป็นทั้งวิกฤติสินค้าจีนทะลักเข้าไทย ขณะเป็นโอกาสส่งออกผักผลไม้ไปจีนเพิ่ม ช่วยลดต้นทุน-ประหยัดเวลา

 

เส้นทางรถไฟจีน (คุนหมิง) – ลาว (เวียงจันทน์) ความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟ ระหว่างประเทศในยุทธศาสตร์การขยายอิทธิพลผ่านการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับนานาประเทศ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะสร้างโอกาสสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเคลื่อนย้ายบุคลากรข้ามพรมแดนเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ซึ่งรวมไปถึงการก่อสร้างใน โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ด้วยเช่นกัน

 

แต่ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ทางการจีนกลับยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งในการประสานงานเพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ Belt and Road Initiative (BRI) เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยเส้นทางรถไฟที่กำลังเป็นที่จับตามองในภูมิภาคอาเซียนขณะนี้คือ เส้นทางรถไฟจีน - ลาว โดยเป็นเส้นทางรถไฟรางเดี่ยวที่เชื่อมต่อจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านเมือง บ่อเต็น ชายแดนประเทศลาว และมุ่งลงใต้ไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ประเทศลาว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศลาว ได้เข้าเยี่ยมชมการก่อสร้างทางรถไฟจีน – ลาว ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 91 และโครงการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดใช้งานจริงได้ในเดือนธันวาคม ปี 2564

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใกล้เป็นจริง! ประมวลภาพทางรถไฟจีน-ลาว ก่อนเปิดใช้ปลายปี 2564

รถไฟความเร็วสูง "ลาว" ว้าววว! แซงหน้า "ไทย"?

 

“รถไฟจีน-ลาว” คืบกว่า 90% จี้ไทยรับมือวิกฤติ-โอกาส

 

โดยทางรถไฟจีน – ลาว เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่มีการลงทุน ก่อสร้าง และจัดการโดยฝ่ายจีนทั้งหมด สร้างขึ้นตามมาตรฐานทางเทคนิคและมาตรฐานการจัดการของจีน เนื่องจากเป็น รถไฟรางเดี่ยวจึงมีความเร็วอยู่ที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงไม่จัดเป็นรถไฟความเร็วสูงที่กำหนดความเร็วไว้ที่มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

นายโจว หมินเหลียง นักวิจัยอาวุโสจาก Chinese Academy of Social Sciences กล่าวให้ ความเห็นว่า การเกิดวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการความร่วมมือในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) แต่กลับช่วยเร่งความมือร่วมระหว่างประเทศให้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดง ให้เห็นว่านานาประเทศต่างให้ความสำคัญกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุน เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และช่วยให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด

 

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ความเห็นว่า รถไฟจีน-ลาว ไม่เพียงจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศลาว แต่ยังช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจีน และไทย เนื่องจากรถไฟจีน - ลาว ที่เชื่อมต่อจากเมืองคุน หมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านเมืองบ่อเต็น ชายแดนประเทศลาว และมุ่งลงใต้ไปยังนครหลวง เวียงจันทน์ประเทศลาว จะช่วยประหยัดเวลาในการขนส่ง สินค้ามาถึงจังหวัดหนองคายมากกว่าเส้นทางรถยนต์ R3A ถึง 2 วัน และยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าขนส่ง

 

โดยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าจะมีต้นทุนถูก กว่าการขนส่งทางถนนถึง 2 เท่า ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเผชิญทั้งโอกาสและอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นจากเส้นทาง รถไฟจีน - ลาว ที่จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564 โดยโดยสินค้านำเข้าจากจีนจะสามารถทำราคาได้ถูกมากยิ่งขึ้นและเข้ามาตีตลาดประเทศไทยเพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสินค้าจากไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตรอย่างผักและผลไม้สดที่ส่งออกไปยังจีนจะสามารถลดต้นทุนและประหยัดเวลาขนส่งได้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันเส้นทางรถยนต์ R3A เป็นอีกหนึ่ง เส้นทางหลักในการขนส่งผักและผลไม้สดจากไทยเข้าสู่เมืองทางใต้ของจีน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากโครงการรถไฟ จีน-ลาว ผู้ประกอบการไทยควรต้องรีบศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน และเตรียมแผนรับมือต่อไป