"เราเที่ยวด้วยกัน" ชง ครม.สัญจร ระยอง เพิ่มแรงจูงใจ

25 ส.ค. 2563 | 03:21 น.

ครม.สัญจร ระยอง "คลัง-ท่องเที่ยว" ชงปรับปรุงมาตรการการท่องเที่ยว "เราเที่ยวด้วยกัน" เพิ่มแรงจูงใจ หลังยอดใช้สิทธิยังน้อย

โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งรัฐบาลตั้งความหวัง ใช้เป็นหัวหอก ขับเคลื่อน ไทยเที่ยวไทย เพื่อกระตุ้นรายได้การท่องเที่ยวภายในประเทศ 5 หมื่นล้านบาท สร้างรายรับในธุรกิจหมุนเวียน 1.23 แสนล้านบาท โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวให้ 40% จนถึงวันนี้มีการใช้สิทธิน้อยมาก

ล่าสุดวันที่ 25 สิงหาคม 25623 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 2/2563 ซึ่งถือเป็นการประชุมครม.สัญจรครั้งแรกหลังการปรับครม.และการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 ที่โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น จ.ระยอง โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่ตรวจคัดกรองตั้งแต่ด้านหน้าโรงแรม ซึ่งทุกคนต้องผ่านเครื่องตรวจแสกนและตรวจวัดไข้ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19

สำหรับวาระการพิจารณา กระทรวงการคลังและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอปรับปรุงมาตรการการท่องเที่ยว "เราเที่ยวด้วยกัน" โดยให้เพิ่มวันพักจากเดิม 5 เป็น 10 วัน และช่วยเหลือค่าตั๋วเครื่องบิน จากเดิมไม่เกินคนละ 1,000 บาท เป็นคนละไม่เกิน 2,000 บาท รวมถึงมาตรการช่วยเหลือเด็กจบใหม่ โดยจะขอให้รัฐอุดหนุนการจ้างแรงงานเด็กจบใหม่ในสัดส่วน ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 1 ปี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เข็นไม่ขึ้น แก้เกมรื้อหลักเกณฑ์ใหม่

ชงครม.ปรับ 3 หลักเกณฑ์ใหม่ "เราเที่ยวด้วยกัน"จองสูงสุด10คืน

จ่อดึง 700 บริษัทตลาดหลักทรัพย์ฯ เที่ยววันธรรมดา

กระทรวงสาธารณสุข เสนอขออนุมัติงบประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อใช้ในการร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอพิจารณามาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ หวังกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อรักษาฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศ
          

กระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงคมนาคมคนใหม่, เสนอต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน

ด้านบรรยากาศก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง) จะมีการเสนอความคืบหน้าและความก้าวหน้าของโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( EEC) รวมทั้งแผนการขยายพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา รัศมี 30 กิโลเมตร และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำใน EEC เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม รวมถึงแนวทางฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และคาดว่าจะมีการเสนอโครงการลงทุนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกให้ที่ประชุม ครม.สัญจรพิจารณา รวม 73 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการลงทุนคมนาคมขนส่งและการแก้ภัยแล้ง