อัดฉีดนโยบายการคลัง ฟื้นเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า

23 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

อัดฉีดนโยบายการคลัง ฟื้นเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3603 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค.2563

 

อัดฉีดนโยบายการคลัง

ฟื้นเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า
 

     ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติกรอบการกู้เงินกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 214,093 ล้านบาท ประเด็นนี้ได้กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างว่ารัฐบาลถังแตก เงินคงคลังไม่พอใช้ จนต้องกู้เงินมาใช้เพิ่มเติม ขณะที่กระทรวงการคลังยืนยันว่าการขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้มาตรการด้านการคลัง เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการเลื่อนระยะเวลาชำระภาษีได้ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณพ.ศ. 2563
 

     ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องขออนุมัติกรอบการกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณากู้เงินตามความจำเป็น พร้อมยืนยันว่าระดับเงินคงคลังของรัฐบาลในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เพียงพอ ในกรณีที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องกู้เงินเพิ่มเติมเต็มกรอบวงเงิน 2.14 แสนล้านบาท จะส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้าง ต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 อยู่ที่ระดับ 51.64% ซึ่งไม่เกิน 60% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด

     ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าในภาวะวิกฤติปัจจุบันผู้ที่มีความสามารถพยุง และกระตุ้นเศรษฐกิจคือภาครัฐ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการออกมาตรการภาคการคลังผ่านโครงการต่างๆ แต่ต้องเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงาน และสนับสนุนหนุนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับวิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล หากการออกมาตรการต่างๆ ผ่านการกู้เงิน จะทำให้ยอดหนี้สาธารณะสูงขึ้น เพราะในสภาวะปัจจุบันไม่ใช่สถานการณ์ปกติ และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่หลังจากออกมาตรการต่างๆ แล้วภาครัฐต้องวางแนวทางการหารายได้เพิ่มในอนาคต ให้เหมาะสมกับการชำระหนี้ที่ก่อขึ้น ไม่ให้เป็นภาระภาคการคลังในระยะยาว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี
 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการด้านการคลังยังมีความสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แต่มาตรการที่ออกมาจะต้องแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมทั้งจะต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของ โควิด-19 คลี่คลาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว