ฝากครม.ประยุทธ์ 2/2 โพลเผย '5 เรื่อง " ปชช.มองควรเร่งทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

16 ส.ค. 2563 | 02:33 น.

โพลเผย '5 เรื่อง'ควรทำเพื่อฟื้นฟูศก.ให้กลับสู่ภาวะปกติ " สร้างงาน -สร้างอาชีพ กระตุ้นการบริโภคในปท. คาดหวังหน่วยงานรัฐทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน

16 สิงหาคม 2563 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,109 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2563 เรื่อง “ระดมสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนกรณีหลังจากเปิดตัว ครม.ประยุทธ์ 2/2 เป็นที่เรียบร้อย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ฝากถึงรัฐมนตรีใหม่จะต้องเร่งขับเคลื่อนงานที่แต่ละกระทรวงรับผิดชอบ โดยเฉพาะสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นมากที่สุด ณ วันนี้ หลังจาก ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คือ เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว สรุปผลได้ ดังนี้


         
ฝากครม.ประยุทธ์ 2/2  โพลเผย '5 เรื่อง " ปชช.มองควรเร่งทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ          

 

1. 5 วิธีแก้ปัญหา “เศรษฐกิจระดับครัวเรือน”
         

          อันดับ 1 สร้างงาน/สร้างอาชีพ 85.75%
          อันดับ 2 สร้างรายได้ 82.78%
          อันดับ 3 เพิ่มสวัสดิการ/สิทธิประโยชน์ต่างๆ 64.38%
          อันดับ 4 พักชำระหนี้ 55.09%
          อันดับ 5 งดเว้นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วคราว 52.12%
         

2. 5 วิธีแก้ปัญหา “เศรษฐกิจระดับชุมชน/ท้องถิ่น”
         

          อันดับ 1 พยุงราคาสินค้าเกษตร 72.14%
          อันดับ 2 นำทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด/เป็นมูลค่าเพิ่ม 71.51%
          อันดับ 3 พัฒนาคนในชุมชนให้เข้มแข็ง/มีส่วนร่วม 69.97%
          อันดับ 4 สร้างงานในพื้นที่ 69.16%
          อันดับ 5 ควบคุมพ่อค้าคนกลาง 68.17%      
 

3. 5 วิธีแก้ปัญหา “เศรษฐกิจระดับประเทศ”
       

          อันดับ 1 ส่งเสริมการเกษตร 76.19%
          อันดับ 2 ส่งเสริมการส่งออก 75.38%
          อันดับ 3 ส่งเสริมการท่องเที่ยว 73.85%
          อันดับ 4 สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน 68.53%
          อันดับ 5 ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม 62.04%
         

4. 5 เรื่องที่ควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้
         

          อันดับ 1 กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 75.20%
          อันดับ 2 การพัฒนาทักษะ/แรงงานและสร้างอาชีพ 71.87%
          อันดับ 3 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 66.82%
          อันดับ 4 การพัฒนาด้านคมนาคม/ระบบขนส่ง 58.88%
          อันดับ 5 การลงทุนด้านสาธารณสุข 55.73%
         

5. ประชาชนอยากให้ใคร เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด
         

          อันดับ 1 หน่วยงานภาครัฐ 77.36%
          อันดับ 2 รัฐบาล 70.83%
          อันดับ 3 หน่วยงานภาคเอกชน 70.11%
          อันดับ 4 สถาบันทางการเงินต่างๆ 63.41%
          อันดับ 5 ภาคประชาชน 63.22%
         

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ผลสำรวจที่สำคัญ พบว่า ในระดับครัวเรือน ประชาชนอยากให้เน้นสร้างงานสร้างอาชีพมากที่สุด ร้อยละ 85.75 ในระดับชุมชน/ท้องถิ่น อยากให้ช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร ร้อยละ 72.14 และ ในระดับประเทศ อยากให้เน้นส่งเสริมภาคการเกษตร ร้อยละ 76.19

 

โดยเรื่องที่ควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้ คือ เน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ร้อยละ 75.20  ทั้งนี้ประชาชนเห็นว่าหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานควรเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด ร้อยละ 77.36 รองลงมาคือ รัฐบาล ร้อยละ 70.83 และเอกชน ร้อยละ 70.11
         

นางสาวพรพรรณ ระบุว่า หลังจากประเทศไทยเผชิญภาวะการณ์เศรษฐกิจถดถอยมาเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามากระทบซ้ำ จึงก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า ประชาชนอยากให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ณ วันนี้ ด้วยการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก่อน ต้องสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน เพื่อให้มีกำลังในการอุปโภคบริโภคให้มากขึ้น
         

“อีกทั้งรัฐบาลได้มีการปรับทัพ ครม. ใหม่ มีทีมเศรษฐกิจใหม่ ประชาชนก็ยิ่งคาดหวังว่ารัฐบาล รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในวันนี้ประชาชนก็ได้สะท้อนความคิดเห็นวิธีการแก้ปัญหา ในมุมมองของประชาชนแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะรับลูกดำเนินการอย่างไรต่อไป” นางสาวพรพรรณ กล่าว
         

ด้านอาจารย์ ดร.ศิริ ชะระอ่ำ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์ประเมินสมัยใหม่ เปิดเผยว่า เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ผลการสำรวจข้างต้นของสวนดุสิตโพล สอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของ World Bank ที่ระบุถึงมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย 3 ด้าน คือ
         

หนึ่ง การมุ่งเน้นการสร้างงานภายในประเทศ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ
         

สอง การเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงาน พัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มล่าง
         

สาม การสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและทรัพยากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว
         

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด เพราะยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน