ไทยแอร์เอเชีย ยืนระยะฝ่าวิกฤติโควิด สู่สายการบินที่แข็งแกร่ง

18 ส.ค. 2563 | 11:05 น.

วันนี้เราต้องลอยคอไปก่อน ด้วยการเตรียมความพร้อมทั้งพนักงานที่ยังอยู่ครบ เครื่องบินมีการทำความสะอาดรอ มีการบริหารจัดการต้นทุนทุกอย่างให้ลดลง เราต้องแสดงความแข็งแรงในองค์กร แสดงให้คนข้างนอกเห็นว่าเรายืนอยู่ได้

ธุรกิจสายการบิน เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เจ็บสาหัสจากวิกฤติโควิด-19 ความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้แม่ทัพแอร์เอเชีย “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย ต้องลุกขึ้นจัดกระบวนทัพอย่างรวดเร็ว พร้อมยืนยันว่า จะไม่เอาพนักงานคนไหนออก เพียงแต่รายได้จะไม่เท่าเดิม

“ธรรศพลฐ์” ยอมรับว่า ในช่วงแรกๆ เขาไม่คิดว่าสถานการณ์จะรุนแรง แต่เมื่อรัฐบาลไทย และประเทศอื่นๆ ออกมาตรการล็อกดาวน์ จึงรับรู้ว่ากำลังเผชิญกับพายุลูกใหญ่ที่ไม่ใช่แค่พายุโซนร้อน แต่เป็นทอร์นาโดเลยทีเดียว

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอเชียเอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)

“เปิดมา 17 ปี ทุกครั้งที่มีวิกฤติ ประเทศไทยไม่เคยเกิน 6 เดือน ก็กลับมายืนได้เหมือนเดิม แต่วิกฤติครั้งนี้หนักมาก เอาวิกฤติทั้งหมดที่เคยเจอมา ทั้งสึนามิ น้ำท่วม ปิดสนามบิน H5N1 โรคซาร์ ก็ยังไม่เท่าโควิด-19 ที่ผ่านมา แอร์เอเชียเคยหยุดบินนานสุดคือ 3 วัน แต่ครั้งนี้ 2 เดือนครึ่ง ไม่มีเงินเข้าบริษัทเลย ในขณะที่บริษัทต้องใช้เงินเดือนละ 1,500 ล้านบาท พอบินได้หน่อย ก็เหลือเดือนละ 700 ล้านบาท”

แม้จะรู้ว่า ต้องเผชิญกับวิกฤติอย่างหนัก แต่ “ธรรศพลฐ์” บอกว่า เขายังมีความหวัง เพราะคนเรายังต้องดำรงอยู่ แอร์เอเชียต้องผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง แอร์เอเชียจะแข็งแกร่งแน่นอน...แต่วันนี้ ลอยคอไปก่อน ด้วยการเตรียมความพร้อมทั้งพนักงานที่ยังอยู่ครบ เครื่องบินมีการทำความสะอาดรอ พนักงาน Work From Home มีการบริหารจัดการต้นทุนทุกอย่างให้ลดลง เราต้องแสดงความแข็งแรงในองค์กร แสดงให้คนข้างนอกเห็นว่า เรายืนอยู่ได้

ส่วนการสร้างรายได้ แอร์เอเชียทำทุกวิถีทางที่ขายได้ ในเมื่อสินค้าขายบนเครื่องไม่ได้ ก็เอามาขายบนดิน ทั้งชานมไข่มุก เย็นตาโฟผัดแห้ง กะเพราคลุกไข่เจียวราด ใช้พนักงานโหลดอาหารบนเครื่อง จัดแบ่งเป็น 2 ทีม มาขับรถส่งอาหาร ซึ่งน้องๆ พนักงานเหล่านี้ก็จะมีรายได้ มีการเปิดศูนย์ที่ดอนเมือง และที่มักกะสัน ทุกวันนี้สามารถสร้างรายได้วันละประมาณ 1.5 แสนบาท แผนกนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และกำลังขยายไปสู่จังหวัดภูเก็ต ขอนแก่น เชียงใหม่ และกำลังจะรับเพิ่มอีก

การออกตั๋วบุฟเฟ่ต์ ที่ทำไปแล้ว ก็สามารถสร้างรายได้เข้าบริษัทกว่า 100 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดเป็นออกซิเจนต่ออายุให้กับองค์กรและพนักงาน นอกจากนี้ ยังทำคาร์โก้ และแอร์เอเชีย มาร์เก็ตเพลส นำของจากฟาร์มจากเกษตรกร ส่งตรงถึงหน้าบ้านลูกค้าผ่านไปรษณีย์ไทย ให้บริการแบบ Door To Door ส่งถึงภายใน 48 ชม. ผ่านโมเดล Community Digital Platform ซึ่งไม่ได้ส่งแค่ในไทย แต่รวมถึงอาเซียนด้วย

ส่วนการกลับมาเริ่มบิน ขณะนี้ไทยแอร์เอเชียมีฝูงบิน 62 ลำ ส่วนไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์มี 15 ลำ ช่วงแรกๆ หลังคลายล็อกดาวน์ ไทยแอร์เอเชียใช้เครื่องบิน 5 ลำ ก่อนจะทยอยเพิ่มเส้นทางและความถี่เที่ยวบินจนทุกวันนี้สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว 25 ลำ แต่ยังเหลืออีก 37 ลำที่ยังจอดนิ่ง และการให้บริการการบินในยุคนี้คือ New Normal มีรายละเอียดเยอะมาก ด้วยมาตรการรักษาสุขอนามัยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ทำให้ช่วงแรกๆ ไฟท์ที่ไม่เคยดีเลย์ก็ดีเลย์ทุกไฟท์แต่พนักงานก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว จนทำให้สามารถบินได้ตรงตามเวลาแล้วในปัจจุบัน

ไทยแอร์เอเชีย ยืนระยะฝ่าวิกฤติโควิด สู่สายการบินที่แข็งแกร่ง

ไทยแอร์เอเชีย ยืนระยะฝ่าวิกฤติโควิด สู่สายการบินที่แข็งแกร่ง

เมื่อถามว่า มองอนาคตธุรกิจการบินเป็นอย่างไร “ธรรศพลฐ์” ตอบเลยว่า...ผมก็ไม่รู้ ที่ไม่รู้เพราะจริงๆ เราก็คุยกับสถานทูตจีน ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์ กะว่าจะเปิดบับเบิลได้ ภายใน 30-35 วัน เปิดก้อเจ็บ ไม่เปิดก้อเจ็บ เลยต้องมาดูว่า ในอนาคตจุดที่มันตัดกันระหว่างสุขภาพร่างกาย กับสุขภาพเศรษฐกิจมันอยู่ตรงไหน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ แต่คิดว่ากลางปีหน้า การท่องเที่ยวจะกลับมา...ระหว่างนี้จนถึงสิ้นปี การท่องเที่ยวไม่กลับมาไม่เป็นไร แต่เงินภาครัฐต้องอัดฉีดเข้าระบบ ไม่งั้นทุกอุตสหกรรมจะตาย บางธุรกิจมันตายแล้วฟื้นกลับมาไม่ได้ ถ้าจะให้อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนอยู่ ภาครัฐต้องอัดฉีดเข้ามา

ผู้นำแอร์เอเชีย ย้ำว่า สิ่งที่เขาพยายามทำขณะนี้คือ การยืนระยะอยู่ให้ได้ เพราะหลังโควิด เชื่อว่าจะเหลือสายการบินอยู่ไม่กี่สาย การแข่งขันจะน้อยลง Yield จะดีขึ้น บริษัทจะกลับมามีสภาพคล่อง มีกำไร เพราะฉะนั้นเราต้องยืนระยะให้ได้ อนาคต 2 ปีแรกหลังโควิด ค่าตั๋วจะสูงขึ้น 15-20% แล้วหลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลง มาอยู่ที่เดิม และเมื่อแอร์เอเชียพัฒนาแพลทฟอร์มสร้างรายได้อื่นๆ นอกเหนือจากการขายตั๋วได้เพิ่มขึ้น ซึ่งอยากทำให้สัดส่วนขยับเป็น 25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะยอมขายตั๋วราคาต่ำกว่าทุน เพื่อเพิ่มปริมาณคนบินให้เพิ่มขึ้น

นั่นคือแนวทางการยืนระยะของ สายการบินแอร์เอเชีย ที่ “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” กำลังพยายามอย่างเต็มที่ ในการทำให้แอร์เอเชียสามารถลอยคอและอยู่รอดจนถึงวันที่มีมือวิเศษ (รัฐบาล) มาช่วยดึงเข้าฝั่ง และเมื่อถึงวันที่กลับมายืนได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง ผู้นำคนนี้บอกเลยว่า “แอร์เอเชีย” จะเป็นหนึ่งในสายการบินที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคอาเซียนแน่นอน

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24  ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563