“SPCG” ฟันกำไรครึ่งปีแรกกว่า 1.58 พันล้านบาท

11 ส.ค. 2563 | 09:45 น.

“SPCG” เผยครึ่งปีแรกแดดดีดันกำไรแตะ 1.58 ล้านบาท พร้อมประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.55 บาทต่อหุ้น

นางสาววันดี  กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” เปิดเผยผลประกอบการงวด 6 เดือนหรือครึ่งปีแรก สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิกว่า 1,584.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และรายได้รวมกว่า 2,629.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

                ทั้งนี้  ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากงวดผลดำเนินงาน วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.55 บาท โดยบริษัทได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลระหว่างกาล (Record Date) ในวันที่ 25 สิงหาคม 2563 และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันที่ 4 กันยายน 2563

                สำหรับภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีแรกนี้ บริษัทฯ เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากธุรกิจ  ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ทั้ง 36 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 260 เมกะวัตต์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 มีจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายได้จำนวน 200.3 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (199.8 ล้านหน่วย) จำนวน 0.5 ล้านหน่วย หรือคิดเป็น 0.2%

“SPCG” ฟันกำไรครึ่งปีแรกกว่า 1.58 พันล้านบาท

                ขณะที่บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) ซึ่งดำเนินธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) สำหรับบ้านพักอาศัย สำนักงาน อาคารธุรกิจขนาดเล็ก ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 2563 มีรายได้จำนวน 308.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (262.6 ล้านบาท) จำนวน 46.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18%

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ทริสเรทติ้ง” คงอันดับองค์กรและหุ้นกู้ “SPCG” ที่ระดับ “A”

“SPCG” กำไร 837.8 ล้านบาทไตรมาสแรก

 

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงมองหาโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานธุรกิจ โดยได้ตั้งเป้าหมายในปี 2580 จะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะยังคงมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจโซลาร์ฟาร์มเป็นหลัก ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2563 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ทั้งปีไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท

                ส่วนความคืบหน้าของโครงการโซลาร์ฟาร์ม Ukujima ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตรวม 480 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้ร่วมลงทุนได้แก่ Kyocera Corporation, Kyudenko Corporation, Tokyo Century Corporation, Furukawa Electric Company Limited, Tsuboi Corporation และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ งบการลงทุนทั้งหมด 178,758,689,000 เยน หรือ ประมาณ 53,379,489,639 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 29.8612 บาทต่อ 100 เยน ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 9,000,000,000 เยน ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ชำระทุนไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นจำนวนเงิน 2,289,680,925 เยน และ 1,924,187,000 เยน ตามลำดับ และมีแผนจะชำระทุนงวดที่ 3 จำนวน 64,828,000 เยน หรือประมาณ 19,358,418 บาท ภายในเดือนกันยายน 2563 นี้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2566 เป็นต้นไป

                นางสาววันดี กล่าวต่อไปอีกถึงความคืบหน้าธุรกิจด้านการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ว่าในปีนี้บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งเป็น 50 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าในภาคโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก ภายใต้รูปแบบ Private PPA จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 35 - 40 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นภายใต้ การดำเนินงานของบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ SPR ประมาณ 20 เมกะวัตต์ โดยเน้นกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ และภายใต้บริษัท MSEK Power โดยเน้นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือรวม 15 - 20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 - 500 ล้านบาท